ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF

ทางเลือกเพิ่มโอกาสมีบุตร ด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ตั้งครรภ์มากที่สุด “IVF หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว”

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ IVF (ไอวีเอฟ) หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว   (IN-VITRO FERTILIZATION )

เป็นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ โดยการคัดเซลล์ไข่ ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชาย  ปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิสนธิแล้ว จึงย้ายตัวอ่อน หรือเอ็มบริโอ (EMBRYO) กลับโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยเทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก

การเตรียมตัวสำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว

  • การเตรียมตัวด้านสุขภาพ
    • คู่สมรสที่ต้องการรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงคาเฟอีน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และเสริมด้วยแร่ธาตุโฟลิก อย่างน้อย 1 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา ในฝ่ายชายควรหลีกเลี่ยงการปั่นจักรยาน แช่น้ำอุ่นหรือการทำซาวน่า และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงในที่รัดแน่นเกินไป
    • คู่สมรสควรทำวามเข้าใจ และได้รับคำอธิบายให้เข้าใจถึงขั้นตอนการทำ อัตราความสำเร็จ และความเสี่ยงของการทำเด็กหลอดแก้ว หากไม่เข้าใจควรสอบถามแพทย์เพิ่มเติมก่อนเริ่มกระบวนการรักษาต่อไป
  • การตรวจก่อนทำเด็กหลอดแก้ว (Preparation Part)
    • พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินทั่วไป
      • ตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดเชื้อไวรัสต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการถ่ายทอดไปยังทารก เช่น เอชไอวี (HIV) ตับอักเสบบี (Hepatitis B) โรคซิฟิลิส (Syphilis)
      • ตรวจคัดกรองโรคหัดเยอรมันเพื่อให้วัคซีนป้องกันก่อนเริ่มการตั้งครรภ์
      • ตรวจคู่สมรสเพื่อคัดกรองโรคเลือดจางธาลัสซีเมียเพื่อลดความเสี่ยงในบุตร
      • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและส่งตรวจเพิ่มเติมหากพบความผิดปกติ
      • ในครอบครัวที่มีประวัติการคลอด ทารกที่ผิดปกติ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสติปัญญาอ่อน ตาบอดสี อาจต้องมีการส่งตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติมก่อนเริ่มรักษา
      • แพทย์จะประเมินความพร้อมทางจิตใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเครียด หรือ ปัญหาสุขภาพจิตอันจะส่งผลต่อกระบวนการการรักษา
      • การตรวจพิเศษในฝ่ายหญิง          
        • ซักประวัติและตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุอัลตราซาวด์ เพื่อประเมิน อุ้งเชิงกราน มดลูก และรังไข่ เจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อประเมินการทำงานของรังไข่ วิธีตรวจพิเศษ อาจพิจารณาทำในบางรายที่จำเป็น เช่น การฉีดสีเพื่อประเมินโพรงมดลูก และท่อนำไข่ การส่องโพรงมดลูก หรือส่องกล้องหน้าท้อง
      • การตรวจพิเศษในฝ่ายชาย
        • ตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติของอัณฑะและอวัยวะเพศ
        • ตรวจวิเคราะห์จำนวน, รูปร่าง และคุณภาพของน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของอสุจิ
  • การเตรียมเอกสารสำหรับทำเด็กหลอดแก้ว
    • บัตรประชาชน สามี และ ภรรยา
    • ทะเบียนสมรส
    • ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF(IN-VITRO FERTILIZATION)

1.การกระตุ้นไข่ (Controlled ovarian hyperstimulation)

เป็นการใช้ยาฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ไข่โตหลายใบและให้ไข่สุกพร้อมๆกัน

ควรทำเมื่อไหร่ : วันที่2 หรือ 3 นับจากวันที่มีประจำเดือนวันแรก

เวลาที่ใช้ : 9-12วัน

เป้าหมายของการกระตุ้นไข่ คือการกระตุ้นให้ไข่ที่เตรียมโตในรอบเดือนนั้นๆ โตขึ้นให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่มีในแต่ละรอบด้วยยา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้ไข่โตเต็มวัยที่มีคุณภาพสูง ระหว่างนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องมาพบแพทย์ที่คลินิกทุกๆ 3-4 วัน ในช่วงเวลา 10 ถึง 12 วัน เพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ ดูว่ารังไข่ตอบสนองต่อ ยากระตุ้นไข่อย่างไร เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยากระตุ้นให้ไข่สุกระยะสุดท้าย และกระตุ้นการตกไข่ เพื่อช่วยให้ไข่สุกและหลุดออกจากผนังของฟองไข่ พร้อมสำหรับการเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป

2.การเก็บไข่ (Egg Retrieval)

เป็นเก็บไข่หรือ เจาะดูดไข่ ที่ได้รับการกระตุ้นแล้วออกมาเพื่อทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ

ควรทำเมื่อไหร่ : 36-38 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก

เวลาที่ใช้ :  1-2 ชั่วโมง

กระบวนการเก็บไข่ จะทำโดยใช้อัลตราซาวด์นำเพื่อให้เห็นฟองไข่ชัดเจน และใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผนังช่องคลอด เข้าไปในฟองไข่และ

ดูดเก็บไข่ออกมา ตลอดกระบวนการ แพทย์จะให้ยาสลบ จึงแทบไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ ใช้เวลาในการเก็บไข่ประมาณ 15-45 นาที

3.การเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชาย (Sperm)

เป็นการคัดแยกตัวอสุจิออกจากน้ำอสุจิสำหรับการปฏิสนธิกับไข่

ควรทำเมื่อไหร่ : วันที่ฝ่ายหญิงได้รับการเก็บไข่

เวลาที่ใช้ :  1 ชั่วโมง

ในวันที่ฝ่ายหญิงได้รับการเก็บไข่ ฝ่ายชายจะต้องมาเก็บน้ำเชื้อ โดยปกติแล้วแนะนำให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิในวันเดียวกับวันเก็บไข่ที่คลินิก

แต่ถ้าหากฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถมาเก็บอสุจิก่อน แล้วแช่แข็งน้ำเชื้อไว้ล่วงหน้า และละลายมาใช้ในวันเก็บไข่

ในวันเก็บอสุจิ แพทย์จะให้ฝ่ายชายทำการช่วยตัวเองให้หลั่งลงในภาชนะปลอดเชื้อที่เตรียมไว้ภายในห้องส่วนตัวสำหรับคุณผู้ชาย หลังจากนั้นอสุจิจะ

ถูกส่งตรงไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรววจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ โดยในกรณีทำ ICSI ทีมแพทย์จะทำคัดเลือกอสุจิตัวที่สมบูรณ์ที่สุด

แข็งแรงที่สุด และมีการเคลื่อนไหวดีที่สุดมาฉีดเข้าสู่ไข่เพื่อไปปฏิสนธิ

สำหรับฝ่ายชายที่มีปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศ เช่น ภาวะท่อนำอสุจิอุดตัน (Obstruction azoospermia: OA) ภาวะหลั่งอสุจิย้อนทาง (Anejaculation) หรือภาวะหมันในเพศชาย (Male infertility) แพทย์จะใช้วิธีการเก็บน้ำเชื้อโดยตรงจากท่อนำอสุจิ หรืออัณฑะ(PESA/TESE) โดยใช้เข็มขนาดเล็กดูดอสุจิจากท่อนำน้ำเชื้อ เปาะเก็บน้ำเชื้อ หรือโดยตรงจากลูกอัณฑะก่อนที่จะนำมาปฏิสนธิโดยการทำ ICSI

4.การปฏิสนธิ (Fertilization)

เป็นขั้นตอนที่ไข่กับอสุจิผสมกันในห้องปฎิบัติการเพื่อให้ได้ตัวอ่อน

ควรทำเมื่อไหร่ : หลังเก็บไข่และคัดเลือกน้ำเชื้อ

เวลาที่ใช้ :  1 วัน

การปฏิสนธิโดยการทำIVF จะปล่อยให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่เองตามธรรมชาติ แต่การทำICSI จะมีการคัดเลือกอสุจิ 1 ตัว แล้วทำการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ หลังปฏิสนธิจะได้เป็นตัวอ่อนภายในห้องปฏิบัติการ

5.เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฎิบัติการ

เป็นเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฎิบัติการที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มข้นของก๊าซ ความเป็นกรด-ด่าง และอาหารเลี่ยงตัวอ่อน ให้ใกล้เคียงกับครรภ์มารดามากที่สุด จนถึงระยะที่ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้

เวลาที่ใช้ :  5-6 วัน

ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ 5-6 วัน จนเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ หลังจากนั้นตัวอ่อนที่แข็งแรงและคุณภาพดี จะถูกย้ายกลับสู่โพรงมดลูก หรือถูกนำไปแช่แข็งไว้เตรียมย้ายในรอบอื่นๆ

6.การย้ายตัวอ่อน (Embryo Transfer : ET)

ย้ายตัวอ่อนจากห้องปฏิบัติการกลับเข้าสู่โพรงมดลูกที่เตรียมไว้เพื่อการฝังตัวของตัวอ่อน

ควรทำเมื่อไหร่ : หลังเก็บไข่5-6วัน หรือ หลังรับประทานยาเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังประจำเดือนมารอบถัดไปนับจากรอบเก็บไข่

เวลาที่ใช้ :  30 นาที-2ชั่วโมง

การย้ายตัวอ่อนมี 2 วิธี คือการย้ายตัวอ่อนรอบสด และการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง

  • การย้ายตัวอ่อนรอบสด (Fresh embryo transfer) เป็นการย้ายตัวอ่อนภายใน 5-6 วันหลังการเก็บไข่ ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนในรอบสดคือ ลดความเสี่ยงที่ตัวอ่อนจะบาดเจ็บจากกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อน แต่จะมีข้อจำกัดคือไม่สามารถตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนที่ย้ายในรอบสดได้ และโพรงมดลูกอาจเหมาะสมต่อการฝังตัวของตัวอ่อนน้อยกว่าการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง
  • การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (Frozen embryo transfer) เป็นการย้ายตัวอ่อนในรอบที่ได้รับการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน หลังจากที่ประจำเดือนมาในรอบถัดๆไปจากรอบเก็บไข่ โดยหลังการเก็บไข่และปฏิสนธิจนได้ตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะทำการแช่แข็งตัวอ่อนไว้ และละลายออกมาเมื่อโพรงมดลูกเหมาะสมต่อการฝังตัว ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็งคือ โพรงมดลูกเหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อนมากกว่า สามารถตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนย้ายตัวอ่อนได้ แต่จะมีข้อจำกัดคือตัวอ่อนอาจบาดเจ็บจากการแช่แข็งได้ และจะมีค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งตัวอ่อนเพิ่มขึ้นถ้าเทียบกับการย้านตัวอ่อนรอบสด

การย้ายตัวอ่อนเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บ แพทย์จะสอดสายย้ายตัวอ่อนเข้าไปผ่านช่องคลอดและปากมดลูกจนถึงโพรงมดลูก ควบคู่กับการใช้อัลตราซาวด์ช่วยนำทางปลายสายให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในโพรงมดลูกก่อนที่จะฉีดตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวตรงตำแหน่งที่ต้องการ หลังย้ายตัวอ่อน แพทย์จะให้นอนพัก 20-30นาที หลังจากนั้นจึงจะให้กลับได้

7.ดูแลหลังการย้ายตัวอ่อน และการตรวจการตั้งครรภ์

เมื่อทำการย้ายเสร็จสิ้น ตัวอ่อนจะเริ่มฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโต หลังการย้ายตัวอ่อน 7-10 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์หลังย้ายตัวอ่อน 10-14 วัน หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์อีกครั้งเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์

สำหรับตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ทำการย้ายตัวอ่อน สามารถแช่แข็ง เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้ วิธีการนี้ช่วยให้ตัวอ่อนถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง

การปฏิบัติตัวหลังย้ายตัวอ่อน

  • รับประทานยาและ สอดยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงเวลา หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง
  • หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือยกของหนัก ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือเกร็งหน้าท้อง
  • ไม่วิ่ง เดินตลอดเวลา หรือยืนนานๆ
  • งดการขับรถและหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถทานอาหารตามปกติได้ แต่ควรเป็นอาหารที่มีเส้นใยและย่อยง่าย ไม่ควรทานอาหารดิบ หรือ กึ่งสุกกึ่งดิบ
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ และการสวนล้างช่องคลอด จนกว่าจะถึงวันนัดตรวจเลือดฮอร์โมนตั้งครรภ์ HCG
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ไม่นอนดึก ไม่เครียด
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค เช่น หัดเยอรมัน และหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ปดลูกและช่องคลอด จนกว่าจะถึงวันนัดตรวจเลือดฮอร์โมนตั้งครรภ์ HCG
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออก ปวดท้องมาก มีไข้ ตกขาวมากผิดปกติ ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

พญ.พัชรินทร์ เกียรติสารพิภพ

สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้มีบุตรยาก

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้