ความหวังดีของแม่ บางทีอาจจะเป็นตัวกระตุ้นอาการของลูก

"ความหวังดีของแม่ บางทีอาจจะเป็นตัวกระตุ้นอาการของลูก"
บทสัมภาษณ์คุณแม่ของผู้ป่วยสุขภาพใจ โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น


จุดเริ่มต้นของการมาพบแพทย์
คุณแม่ : ตอนน้องอายุได้ประมาณ 2 ขวบกว่าๆ แม่มีความรู้สึกว่าน้องไม่เหมือนเด็กคนอื่น ด้วยความที่แม่จบพยาบาลมา ทำให้พอมีความรู้ด้านนี้บ้าง บวกกับคุณแม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องสมาธิสั้น ก็เลยรู้สึกว่าน้องผิดปกติ

พอพาน้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นแบบนิ่ง คือน้องจะนิ่ง ให้นั่งตรงไหนก็นั่ง ไม่ไปไหน พอหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ก็ได้รักษาน้องอยู่ประมาณ 1 ปี

หลังจากที่ย้ายบ้าน ตอนน้องเรียนอนุบาล 3 อาการดูปกติทุกอย่าง มองไม่ออกเลยว่าผิดปกติ จนกระทั่งเข้าเรียนประถม 1-3 ผลการเรียนเริ่มไม่ดี เรียนไม่เข้าใจ เข้าใจยาก

พอเรียนประถม 5-6 คุณแม่ก็เลยพาไปหาหมอจิตเวช ด้วยเรื่องผลการเรียนของน้อง และสงสัยว่าน้องจะเป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง learning disorder (LD)  คุณหมอให้เลยยามาทานรักษา ในตอนนี้ทดสอบ IQ น้องได้ประมาณ 100

ช่วงมัธยม 1-2 ผลการเรียนของน้องเริ่มดีขึ้น เพราะคุณแม่ช่วยย่อ และติวให้ คุณหมอเลยให้ลองหยุดยาดู

พอช่วงมัธยมปลาย เริ่มมีอาการเดิม คือ ผลการเรียนไม่ดี ไม่อยากคิด ก็เลยพาไปหาคุณหมออีกครั้ง และได้ทดสอบ IQ อีกครั้งตอนที่เข้ามหาวิทยาลัย ปีที่ 1 ได้ผลออกมาไม่ถึง 90

อาการของน้องเริ่มมาหนักช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย มีอาการกังวลเรื่องรับน้อง การสอบ การเรียน ทำให้น้องวิตกกังวลมาก ร้องไห้ไม่หยุด พูดแต่เรื่องอดีต บอกว่าแม่ไม่รัก แม่ก็เลยพาน้องไปหาหมอ ซึ่งคุณหมอวินิจฉัยว่าน้องเป็นโรคไบโพลาร์ (Bipolar) แต่แม่คิดว่าน้องไม่ได้เป็นโรคนี้ ก็เลยพาไปหาหมออีกโรงพยาบาลหนึ่ง คุณหมอวินิจฉัยว่าไม่ใช่โรคไบโพลาร์ (Bipolar) และได้แนะนำให้น้องฝึกเรื่องการปรับพฤติกรรม

คุณแม่คิดอย่างไรกับประโยคว่า ไปหาหมอจิตเวช บ้า
ง่ายๆ เลย ต้องคิดถึงลูกเรา เราอยากให้เขาหาย เรารักเขา เราไม่ต้องไปแคร์ใคร แรกๆ คุณพ่อก็ไม่เข้าใจนะ เรื่องต้องพาไปหาหมอจิตเวช มันยากตรงที่คุณพ่อ-คุณแม่ จะรับได้ไหม สังคมตอนนี้มันธรรมดาแล้ว มันมีรณรงค์มากขึ้น แต่ตอนนี้คุณพ่อเขาเข้าใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนะ อาจจะมีที่มีอารมณ์เสียบ้าง แต่เขาจะไม่พูดต่อหน้าลูก เราเองก็จับแยกกันก่อน ให้อารมณ์เบาๆ กัน

ที่สำคัญเลย คือ ความรัก  เรารักเขา เข้าใจเขา ฟังเขา เขาจะไว้ใจที่จะมาพูดกับเรา เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาเจอให้เราฟัง และเราต้องให้อภัยเขา

ตอนที่ต้องรับมือกับอารมณ์ของน้อง คุณแม่มีวิธีการรับมืออย่างไร?
ตอนที่น้องเป็นหนักๆ ที่ว่าร้องไห้ไม่หยุด บอกว่าแม่ไม่รัก แม่ทิ้งเขา เราก็กอดเขา บอกว่าเราอยู่ตรงนี้นะ ปล่อยให้เขาพูดไปก่อน เราต้องรับฟัง
ส่วนตอนที่น้องเขาไม่เข้าใจเรื่องการเรียน เราก็ร่วมเรียนไปกับเขา ติวไม่ด้วยกัน คอยช่วยดูพวกเนื้อหาให้ แม่จะค่อยๆ พูดกับเขาว่า "เราจะทำไปด้วยกัน" เราต้องให้ความเชื่อมั่นกับเขา ว่าเขาทำได้นะ

ความหวังดีของแม่ บางทีอาจจะเป็นตัวกระตุ้นอาการของน้อง
เราหวังดีกับเขา ด้วยความที่เราห่วงเขา หลายครั้งเราก็จะทำ หรือพูดอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้เขาเกิดอาการ อย่างเช่น "อ่านหนังสือแล้วหรือยัง" เราต้องกลับมาดูตัวเรานะว่าบางทีเรานี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้นเขา เราเอาตัวเราเป็นบรรทัดฐานจนลืมเขา บางทีเรามีอารมณ์ เราก็เผลอใช้คำรุนแรง หรือการข่มขู่ แต่มันไม่มีประโยชน์เลย เราก็ต้องคอยบอกตัวเอง ต้องใจเย็น ค่อยๆ พูด จะได้ผลดีกับเขา ต้องเข้มแข็ง เพราะไม่รู้ว่าเราจะพูดทำร้ายกันไปทำไม

ตอนนี้น้องเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้น้องเรียนออนไลน์ มีฝึกการพรีเซนต์งาน แม่น่ะตื่นเต้นมาก แต่น้องเขานิ่งๆ นะ ก็ต้องค่อยๆ ฝึกไป แต่เขาจะคอยถามแม่ตลอดว่าหนูเป็นยังไงบ้าง ดีขึ้นไหม แม่คิดว่าถ้าเราให้ประสบการณ์เขาเยอะๆ มันจะช่วยได้ จริงๆ มันอยู่ที่มุมมอง ก็ต้องค่อยๆ ผ่านกันไป

คุณแม่มีอะไรจะฝากถึงคุณพ่อ-คุณแม่ท่านอื่นๆ บ้าง?
สำหรับคนที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้น หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องถามตัวเองก่อนว่า คิดว่าจะทำยังไงกับลูกต่อไป ลูกจะมีชีวิตต่อไปยังไงเมื่อเราไม่อยู่ เขาจะอยู่อย่างมีความสุขได้ยังไง เราอาจต้องสร้างสิ่งแวดล้อม หรือทำให้เขารู้ว่าเขามีจุดเด่นอะไร ชอบอะไร เราต้องวางแผนก่อน
เด็กทุกคนต้องการความรัก กำลังใจ ความใส่ใจ เราต้องไม่ท้อ เราอาจต้องเสียสละหน่อย ก็ค่อยๆ ทำไป ทำทุกด้านให้บาลานซ์ ทำให้รู้สึกว่าลูกไม่ได้มีปัญหา

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้