ลูก “โตช้า ” อาการที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

ลูก “โตช้า ”  กว่าเพื่อนวัยเดียวกัน

“เพราะปัญหาของลูก ก็คือปัญหาของเรา”   หากลูกของเรามีแนวโน้มที่ร่างกายที่เติบโตช้า ตัวไม่สูง หรือตัวเล็กกว่า เมื่อเปรียบเทียบ กับเพื่อนวัยเดียวกัน พ่อแม่หลายท่านก็คงจะอดไม่ได้ที่จะวิตกกังวล กลัวว่าลูกจะไม่สูงตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือสูญเสียความมั่นใจ

“ภาวะเด็กเตี้ย” เป็นหนึ่งในภาวะที่เกิดจากพัฒนาการด้านร่างกายเด็กเติบโตไม่สมวัย โดยหมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยเมื่อเทียบกับเด็กปกติ หรือในช่วงอายุเดียวกัน มีภาวะทางสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความสูง

ภาวะเด็กตัวเตี้ย

หมายถึง เด็กที่มีความสูงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กที่เชื้อชาติ เพศและอายุเดียวกันมากกว่า 2 ค่าเบี่ยงมาตรฐาน (Standard deviation; SD) ซึ่งสามารถทราบได้โดย ดูจากกราฟแสดงการเติบโต (growth chart)

แล้วสาเหตุของเด็กโตช้า หรือ ตัวเตี้ย เกิดจากอะไร?

สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย

  • กรรมพันธุ์ ส่วนสูงของพ่อแม่มีส่วนสำคัญต่อความสูงของเด็ก เมื่อโตขึ้นสู่วัยผู้ใหญ่
  • ภาวะโภชนาการ เด็กที่ขาดสารอาหารจะเติบโตได้ไม่เต็มที่
  • ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินประสาท โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น
  • ขาดฮอร์โมนเช่น ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น

ฮอร์โมนเติบโต คืออะไร

ฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone: GH) ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองและส่งเข้าสู่กระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อความสูงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก

ทำความรู้จักกับ " ภาวะตัวเตี้ย "

ภาวะตัวเตี้ยปกติ (normal variant) แบ่งออกเป็น 2 ภาวะ

  • ภาวะตัวเตี้ยจากกรรมพันธุ์ (familial short stature)
    • เกิดจากที่คุณพ่อคุณแม่ตัวเล็ก จึงมีผลต่อความสูงของเด็ก
    • เด็กจะมีอัตราการเพิ่มความสูงต่อปีที่ปกติ แต่จะตัวเล็กว่าเด็กวัยเดียวกัน
  • ภาวะโตช้า แบบม้าตีนปลาย (Constitutional delayed growth and puberty)
    • ตัวเล็กร่วมกับ เช้าสู่ช่วงวัยรุ่น ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
    • เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่จะมีความสูงที่ปกติตามศักยภาพ
    • คุณพ่อคุณแม่อาจมีประวัติเข้าสู่วัยรุ่นช้า เช่นเดียวกัน

ภาวะตัวเตี้ยที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน

  • ร่ายกายขาดฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ได้แก่ ฮอร์โมนเติบโต ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ หากร่างกายมีความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนข้างต้น ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้

ภาวะตัวเตี้ยจากการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต

  • มีส่วนสูงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน
  • อัตราการเพิ่มความสูงต่อปี น้อยกว่า 4 ซม./ปี

ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ หากเด็กขาดฮอร์โมนเติบโต อาจนำไปสู่โรคอื่นๆ ที่อาจซ่อนเร้นอยู่ได้

อาการบ่งชี้ว่ามี ภาวะตัวเตี้ย โตช้ากว่าเกณฑ์ สังเกตได้จาก

  • ลูกดูตัวเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับพี่น้องท้องเดียวกัน เมื่ออายุเท่าๆกัน
  • ตัวเล็กกว่าเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด
  • มีอัตราการเจริญเติบโตช้า หรือลดลงโดยเปรียบเทียบในกราฟเจริญ
  • ส่วนสูงอยู่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟการเจริญเติบโต ตามเพศและอายุ

รู้ได้อย่างไรว่า เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายไม่สมวัย?

ทราบได้จากการวินิฉัยจากกุมารแพทย์ จะประเมินจากอัตราการเจริญเติบโต และเปรียบเทียบการเจริญเติบโต

  1. การซักประวัติครอบครัวและเด็ก  ได้แก่
    • ประวัติการตั้งครรภ์ของมารดา น้ำหนัก และความยาวแรกเกิด
    • การเจ็บป่วยของเด็ก โรคประจำตัวการรับประทานอาหารพัฒนาการของเด็ก
    • ความสูงและการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของครอบครัวสายตรง
  2. การตรวจร่างกาย ได้แก่
    • ชั่งน้ำหนัก
    • วัดส่วนสูงในเด็ก และบันทึกในกราฟเพื่อดูรูปแบบการเจริญเติบโตของเด็ก
  3. การตรวจอายุกระดูก โดยการเอกซเรย์ (X-Ray) ผ่ามือ และข้อมือ ข้างที่ไม่ถนัดเพื่อประเมินดูการเจริญเติบโตของกระดูก
  4. การตรวจอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบทางด้านฮอร์โมน การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน ในเด็กที่สงสัยว่ามีความผิดปกติในฮอร์โมน
  5. ในบางรายอาจตรวจ MRI สมอง เพื่อหาสาตุของโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว
  6. อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

การรักษาเด็กที่มี ภาวะตัวเตี้ย

  1. หากเกิดจากโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว  ให้รักษาอาการและควบคุมโรคให้คงที่
  2. ในกรณีที่มีฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน หรือยับยั้ง เช่น ให้ยาเจริญเติบโต (Growth hormone) การให้ไทรอยด์ฮอร์โมน
  3. การรับประทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน
  4. การปรับพฤติกรรมการบริโภค
  5. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบหัวใจและหลอดเลือด
  6. การรับประทานนมในปริมานที่เหมาะสม อาจเสริมวิตามินบางชนิด โดยควรรับคำแนะนำจากแพทย์
  7. การนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อส่งเสริมให้ฮอร์โมนต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างเต็มที่

พ่อแม่ท่านไหนที่กำลังเป็นกังวล ว่าลูกเราอาจเติบโตช้า หรือมีภาวะตัวเตี้ย เบื้องต้นอย่าได้วิตกกังวลใจ  สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการประเมินเบื้องต้น และหากพบว่ามีภาวะตัวเตี้ย จะได้สามารถรักษาอย่างทันท่วงทีในขั้นตอนต่อไป


รับชมวิดีโอ

พ.ญ.อัมพาพรรณ์ นรสุนทร
(กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม)

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้