หมอมะเร็งขอบอก : ดูแลตัวเองอย่างไร ? ให้ห่างไกลมะเร็ง

โดย รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร (แพทย์รังสีร่วมรักษาด้านมะเร็งตับ)

ไม่เคยเป็นมะเร็ง ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็น ?

เรายังไม่เป็นมะเร็ง เราไม่เคยเป็นมะเร็ง ไม่เคยรักษามะเร็งมาก่อน เราจะมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง รวมถึงพฤติกรรม ที่จะช่วยลดโอกาสความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้

คำถามที่ 1 : พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง มีอะไรบ้าง?

หากจะพูดถึง พฤติกรรมอะไรที่จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ก็อาจจะพูดยาก แต่หากให้บอกว่า พฤติกรรมอะไรที่เราทําแล้วมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยลง สิ่งนั้นน่าจะง่ายกว่า โดยจะขอพูดแยกเป็นสองเรื่องคือ

'กรรมเก่า' กับ 'กรรมใหม่'

กรรมเก่า คือสิ่งที่อยู่ในยีนส์ และพันธุกรรมของเรา หรือว่าเรามีความเสี่ยงอยู่ในตัวอยู่แล้ว ซึ่งกรรมเก่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ

กรรมใหม่ คือพฤติกรรม ซึ่งพฤติกรรมก็คือสิ่งที่เราสรรหา สิ่งที่เราปฏิบัติ แล้วก็สรรสร้างให้ตัวเราเอง

ทริคเล็กๆดูแลตัวเองให้ห่างไกลมะเร็ง ด้วยหลัก 5 อ.

เรากําลังพูดถึงพฤติกรรมของคนที่ยังไม่เป็นอะไรเลย เรายังไม่เป็นมะเร็ง เราไม่เคยเป็นมะเร็ง ไม่เคยรักษามะเร็งมาก่อน พฤติกรรมตามหลัก 5 อ.นี้ มีโอกาสที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

อ.ที่ 1 อาหาร

เนื่องจากเรามีความเชื่อว่าโรคมะเร็ง หรือโรค NCDs (โรคที่ไม่ติดต่อ) เพราะฉะนั้น พฤติกรรมและการรับประทานอาหารที่เชื่อว่า จะช่วยให้ลดโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรือว่าโรคอ้วน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง และนํามาสู่การป้องกันโรคมะเร็งได้เหมือนกัน หากพูดถึงเรื่องของอาหาร ในปัจจุบันเราก็จะพูดง่าย ๆ  โดยใช้หลัก 3 ประการ ดังนี้

1.รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย

หลักการง่ายๆ ที่ทุกวันนี้เราก็ทํากันอยู่แล้ว หลายคนก็ทำด้วยวิธีลดข้าว บางคนก็ทานข้าวให้เหลือปริมาณน้อยลง บางคนก็ทานอาหารเหลือแค่ 2 มื้อ ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกัน คือการลดปริมาณแป้ง และน้ำตาล ร่างกายเราก็จะมีปริมาณแคลอรี่ที่เหลือลดน้อยลง ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงที่จะนําไปสู่ปัญหาโรคอ้วนและโรคอื่นๆ มากขึ้น

2.รับประทานอาหารกลุ่มผัก

  • กลุ่มที่ 1 ผักที่มีไฟเบอร์สูง รวมถึงทั้งผักใบเขียว ผักใบไม่เขียว พวกแกรนูล่าพวกธัญพืช ข้าวที่ไม่ได้มีสีขาว ข้าวที่ไม่ได้ผ่านการขัด
  • กลุ่มที่ 2 ยอดของผัก ก็เป็นกลุ่มผักที่คล้ายๆ มีหัวแบบกะหล่ำปลี คะน้า หรือว่าพวกบร็อคโคลี่
  • กลุ่มที่ 3 ผักที่มีสี เช่น บร็อคโคลี่ หรือผักที่มีสีต่างๆ จะเป็นสีส้ม สีม่วง สีเหลือง
  • กลุ่มที่ 4 ถั่ว ถั่วที่มีเปลือกแข็ง ถั่วลิสงทั่วๆไป หรือจะเป็นถั่วฝรั่ง วอลนัท แมคคาเดเมีย อัลมอนด์ ในกลุ่มนี้ก็จะมีสารอาหาร มีเรื่องของวิตามิน โปรตีน และมีสารอีกหลายอย่างที่จะเป็นองค์ประกอบสําคัญ ที่ช่วยทําให้โอกาสเกิดเซลล์มะเร็ง ลดน้อยลงได้ด้วย

3.รับประทานอาหารเนื้อสัตว์

บางคนไม่ทานเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อที่มีสีแดง ในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ยังค่อนข้างไม่ชัดเจน ตอนนี้เรายังมีความเชื่อว่า ถ้าหากทานในปริมาณที่ไม่ได้มากเกินไป ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ มากเกินไป ก็ยังสามารถรับประทานแทนกันได้ เช่น เอามาทําเป็นไส้กรอก เอามาทําเป็นแฮม เอามาทําเป็นลูกชิ้นปิ้งมาทําเป็นหมูยอ กุนเชียง แต่อาจจะให้หันมาทานอาหารเนื้อสัตว์ที่เป็นกลุ่มที่เป็นเนื้อสีขาวมากขึ้น เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ ในปริมาณที่พอสมควร เราอาจจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมไปทานอาหารโปรตีนที่มาจากพืชมากขึ้น แต่โปรตีนที่มาจากพืช ปริมาณของโปรตีนไม่ได้สูงเทียบเท่าเนื้อสัตว์ คำแนะนำสำหรับการรับประทานเนื้อสัตว์ให้เน้นสัดส่วนของเนื้อสัตว์สีขาว เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ ให้มากขึ้น

อ.ที่ 2 อากาศ

ฝุ่น PM 2.5 เรื่องของอากาศเป็นเรื่องที่เราจะพูดว่าหลีกเลี่ยงอะไรก็ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเรื่องของ PM  2.5 แต่สิ่งที่พอจะทําได้ คือ

  • หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศในบริเวณกลางแจ้ง เช่น ออกไปออกกําลังกายบริเวณที่สนามกีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ในช่วงเวลาที่มี PM  2.5 เลือกหันมาออกกําลังกายในบ้านแทน โอกาสที่จะสัมผัส PM 2.5 จะลดน้อยลง
  • การสวมหน้ากากอนามัย เป็นการลดปริมาณของโอกาสในการสัมผัส ลดปริมาณของโอกาสในการสัมผัสควัน และ PM 2.5 ลงมาได้
  • เครื่องกรองอากาศ มีการศึกษาว่า เครื่องกรองอากาศนั้นสามารถช่วยได้เหมือนกัน แต่ว่าต้องใช้เครื่องกรองอากาศที่มี hepa filter หรือ เครื่องกรองอากาศที่มีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างดีพอสมควร ส่วนในข้อเสียที่ตามมา คือ ราคาค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่าย
  • บุหรี่ เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงได้โดยตรง ถ้าหากว่าเราสูบบุหรี่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องลด ละ หรือว่าเลิกบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นั้นเป็นสิ่งที่เราเอาความเสี่ยงนั้น เข้ามาหาตัวเราเองโดยตรง ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะกับตัวเราเท่านั้น คนที่อยู่รอบข้างเรา ลูก เมีย หรือพ่อแม่ คนที่อยู่ในบ้านก็มีโอกาสความเสี่ยงในการที่จะรับอากาศที่เป็นพิษเหล่านั้น และนําไปสู่การเกิดสารก่อมะเร็งได้ด้วยเช่นเดียวกัน

อ.ที่ 3 อารมณ์

  • อารมณ์ด้านลบ

มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ อารมณ์ด้าน negative อารมณ์ที่เป็นด้านไม่ดี จะเป็น ก. ไก่ จะเป็นส่วนใหญ่ เช่น อารมณ์เกลียด อารมณ์กลัว อารมณ์กังวล อารมณ์เหล่านี้คือ อารมณ์ที่จะนําไปสู่ความเครียด ซึ่งไม่ได้เกิดเป็นความเครียดเพียงด้านร่างกายเท่านั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อทางด้านสมอง แล้วก็ความเครียดที่ส่งผลไปถึงจิตใจของเราเอง ทั้งหมดนี้มีการพิสูจน์แล้วว่า มันนําไปสู่ทําให้เกิดเซลล์นี่มีการตายได้เร็วกว่าปกติ มีเซลล์ที่เสื่อมลงได้เร็วกว่าปกติ  และทําให้เซลล์เหล่านั้นมีโอกาสที่จะนําไปสู่การเกิดมะเร็งได้ด้วยเช่นเดียวกัน

  • อารมณ์ด้านบวก

อารมณ์ด้านบวกจะช่วยเสริมทําให้โอกาสเกิดโรคภัยต่างๆนั้นลดน้อยลง มีการศึกษาสนุกๆ ที่พบว่าเราไปกระตุ้นสมองบางส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะในสมองส่วนที่เรียกว่า limbic area เป็นสมองส่วนที่มีหน้าที่ในกระบวนการในการสร้างฮอร์โมนแห่งความสุข โดยมีการไปกระตุ้นสมองส่วนนั้นในสัตว์ทดลองซึ่งเป็นมะเร็ง ทําให้เป็นมะเร็ง และเราไปกระตุ้นสมองส่วนนั้น ทําให้มีการหลั่งฮอร์โมนความสุขออกมามากขึ้น ผลปรากฏว่าเซลล์มะเร็งหรือว่าขนาดของก้อนมะเร็งลดน้อยลง  เล็กลงได้ถึง 50 %  ซึ่งก็เป็นการศึกษาที่เพิ่งทํามา เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา แล้วก็เป็นการศึกษาที่ทําให้เกิดความสนใจกันเป็นอย่างมากว่า หากว่าเราสามารถกระตุ้นอารมณ์ที่เป็น positive  อารมณ์แห่งความสุข เราสามารถกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข ให้กับตัวเราเองได้แล้ว โอกาสที่จะควบคุมมะเร็งหรือว่ารักษาโรคมะเร็ง ให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้นก็อาจจะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

อ.ที่ 4 ออกกําลังกาย

การออกกำลังกายช่วยให้ป้องกันโรคของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีการศึกษาในเรื่องของมะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่ พบว่าการออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยให้ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การออกกําลังกาย เราจะไปดูภาพเหมือนใน TikTok ในวิดีโอ ที่เขาออกกําลังกายกันแบบ extreme เรียกว่า intensive มาก ๆ อย่างนั้นก็คงจะไม่ไหว ต้องดูอายุ และสภาพร่างกายของเราด้วย หากเป็นผู้ใหญ่ ที่อายุเยอะแล้ว บางทีการออกกําลังกาย เพียงแค่การยืดเส้น ยืดสาย มีการเดินเล่นในรอบๆ หมู่บ้าน เดินเล่นแถวๆบ้านมีการ stretching มีการยืดเส้นยืดสาย แกว่งแขนบ้าง  มีการออกกําลังกายแบบที่เราชอบ นั่นก็ถือว่าเป็นการออกกําลังกาย ที่เพียงพอระดับหนึ่ง

การออกกําลังกายระดับที่สอง คือ การออกกําลังกายโดย การเดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ หรือจะเล่นกีฬาที่เราชอบ ให้มีการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น อย่างน้อยก็สัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการเต้นของหัวใจปกติ อย่างนี้เราเรียกว่าการออกกําลังกายแบบ 'cardio' (คาร์ดิโอ) ซึ่งสิ่งนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า การออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ หนึ่งสัปดาห์ต่อสัก 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งต่อสัก 30 นาที จะทําให้ผลรวมต่อสุขภาพร่างกายของเราดีขึ้น ถ้าหากถามว่าทําไมจะต้องทําสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ก็ทําทุกวันเสียเลยก็น่าจะดีกว่า ถ้าทําได้เกิน 30 นาทีก็จะยิ่งดี จะช่วยทําให้อารมณ์เราดีขึ้นด้วย

อ.ที่ 5 องค์รวม

'องค์รวม' สิ่งนี้สําคัญมาก เพราะว่าบางคนจะสนใจ ใส่ใจในเรื่องของการรับประทานอาหาร ให้ความสําคัญกับเรื่องของอาหารค่อนข้างมาก บางทีก็มากเกินไป แต่ขณะที่ไม่ออกกําลังกายเลย อารมณ์ก็ไม่ค่อยดี นอนก็ไม่ค่อยหลับ เลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่ใช่องค์รวม สิ่งที่เราปฏิบัติ หากเราปฏิบัติเพียงแค่ อ.เดียว ก็จะไม่ช่วยอะไรในภาพรวม

สุดท้ายแล้ว สิ่งสําคัญมาก ๆ ของเรื่องของพฤติกรรมลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่เราจะทําด้วยตัวเองได้ตามหลัก 5 อ. ก็คือ อ.ที่1 เรื่องการรับประทานอาหาร อ.ที่ 2 คือเรื่องของอากาศ อ.ที่ 3 คือเรื่องของอารมณ์ จริงๆแล้ว เรื่องของอารมณ์จะรวมเรื่องของการนอนหลับของเราด้วย ใน อ. ที่ 4 คือเรื่องของการออกกําลังกาย และ อ. ที่ 5 ก็คือองค์รวม ทุกสิ่งทุกอย่างเราจะต้องประกอบกัน แล้วก็ทําไปด้วยกัน ไม่หนักอะไรจนเกินไป ไม่น้อยอะไรจนเกินไป ไม่ตามใจตัวเองจนเกินไป โดยพฤติกรรมรวม ๆ เหล่านี้ ใช้คําว่า 'กรรมใหม่' คือ พฤติกรรมสิ่งที่เราเลี่ยงได้ สิ่งที่เราทําได้ และสามารถทําในระยะยาว ตอนที่เรายังไม่เป็นโรคมะเร็ง เราสามารถที่จะลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้แน่นอน


รับชมวิดีโอ

รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร

แพทย์รังสีร่วมรักษาด้านมะเร็งตับ

และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้