โรคกระดูกพรุน ภัยร้ายต่อผู้สูงอายุ

โรคกระดูกพรุน ภัยร้ายต่อผู้สูงอายุ

ช่วงนี้ใกล้ช่วงเทศกาลวันแม่ ซึ่งลูกๆ ทุกคนก็คงอยากดูแลคุณแม่ของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และแน่นอนว่าพออายุมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น และอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือ โรคกระดูกพรุน โดยวันนี้หมอมีข้อมูลดีๆ มาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกัน เพื่อนำไปใช้ดูแลคุณพ่อ-คุณแม่ของตัวเอง

ถาม: อะไรคือโรคกระดูกพรุน?

ตอบ: โรคกระดูกพรุนคือโรคของกระดูกที่มีความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกนั้นเสี่ยงต่อการหักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกต้นแขนส่วนที่ติดกับไหล่ และกระดูกปลายแขนส่วนที่ติดกับข้อมือ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็น

  1. โรคกระดูกพรุนปฐมภูมิ (Primary osteoporosis) เกิดจากร่างกายซ่อมสร้างกระดูกได้น้อยลงตามอายุขัย โดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนซึ่งสมดุลฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ง่ายเป็นพิเศษ จึงเรียกว่าโรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal osteoporosis)
  2. โรคกระดูกพรุนทุติยภูมิ (Secondary osteoporosis) คือภาวะที่ความผิดปกติอื่นใดทำให้มีการสร้างกระดูกลดลง ไม่ว่าจะเป็นโรคต่างๆ (เช่นโรคของต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ รูมาตอยด์ เบาหวานแต่กำเนิด ฮอร์โมนเพศผิดปกติ โรคไต โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ) การขาดสารอาหาร(เช่นขาดการบริโภคแคลเซียมและวิตามินดี โรคระบบการดูดซึมอาหารผิดปกติ โรคทางจิตเวชที่ทำให้การบริโภคลดลง) การใช้ยา(เช่นสเตียรอยด์ ยาต้านการซึมเศร้าและยาต้านการชักบางชนิด) หรือการใช้สารเสพติด (บุหรี่ สุรา)

ถาม: เราจะตรวจได้ไหมว่าเรามีภาวะโรคกระดูกพรุน

ตอบ: ตรวจได้โดยวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกของเรา (Bone Mass Density, BMD) โดยใช้เครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกส่วนกลางของร่างกาย(Axial DXA) เทียบกับความหนาแน่นของมวลกระดูกของประชากรวัยหนุ่มสาว

  • ถ้าค่าที่ได้อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD) คือมีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) แต่ยังไม่เป็นโรคกระดูกพรุน
  • ถ้าค่าที่ได้ต่ำกว่า – 2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) คือมีภาวะโรคกระดูกพรุน(Osteoporosis)

หากไม่มีโอกาสตรวจโดยใช้เครื่องตรวจมวลกระดูก สามารถประมาณความเสี่ยงของการกระดูกหักได้โดยใช้ FRAX score (สำหรับประชากรไทย)ซึ่งสามารถคำนวณได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ตาม QR code ในบทความนี้โดยหากคำนวณแล้วพบว่ามีความเสี่ยงปานกลางควรตรวจด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นมวลกระดูก ส่วนหากคำนวณแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงควรเริ่มรักษาโรคกระดูกพรุน

ถาม: ใครบ้างที่มีควรรับการคัดกรองโรคกระดูกพรุน?

ตอบ: บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ควรตรวจความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูก (DXA) เพื่อคัดกรองว่ามีภาวะโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ได้แก่

  • ผู้หญิงทุกคนเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายทุกคนเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี รวมถึงผู้ที่ตัดรังไข่ 2 ข้างไปแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ (ได้รับยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์เทียบเท่ากับเพรดนิโซโลนตั้งแต่7.5 มิลลิกรัมขึ้นไปต่อเนื่องกันอย่างน้อย3 เดือนขึ้นไป)
  • ผู้หญิงที่มีภาวะเอสโตรเจนต่ำก่อนหมดประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปีขึ้นไป เช่นเจ็บป่วยเรื้อรัง ออกกำลังกายหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง หรือได้รับ GnRH ยกเว้นเอสโตรเจนต่ำจากการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • มีประวัติบิดาหรือมารดากระดูกสะโพกหัก
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนและมีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 20
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลง 4 เซนติเมตรขึ้นไป
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาที่เกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ เช่น ผู้หญิงที่รับยาต้านการสร้างเอสโตรเจนการรักษามะเร็งเต้านม หรือผู้ชายที่รับยาลดฮอร์โมนแอนโดรเจนในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ภาพถ่ายรังสีเอกซ์เรย์พบว่ามีกระดูกบาง หรือกระดูกสันหลังยุบ
  • มีประวัติกระดูกหักจากภยันตรายไม่รุนแรง (เช่นเดินแล้วหกล้มบนพื้นราบ)
  • ประเมิน FRAX score แล้วพบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง คือโอกาสที่จะมีกระดูกสะโพกหักในระยะเวลา 10 ปี (10-year probability risk of hip fracture) ตั้งแต่ร้อยละ 1.5ขึ้นไปหรือโอกาสที่กระดูกชิ้นหลักหักจากภาวะกระดูกพรุนในระยะเวลา 10 ปี (10-year probability risk of major osteoporotic fracture) ตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป
  • ประเมินความเสี่ยงด้วยคะแนนแบบอื่นๆ (เช่น OSTAKKOS หรือ Nomogram)พบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง
  • สูบบุหรี่หรือดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ
  • มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนทุติยภูมิเช่นโรคของต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ รูมาตอยด์ เบาหวานแต่กำเนิดเป็นต้น

ถาม: ควรจะปฏิบัติตัวเช่นไรในการป้องกันโรคกระดูกพรุนและภาวะที่เกี่ยวข้อง?

ตอบ: ควรจะปฏิบัติตนตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนักและมีการใช้แรงต้านเพื่อเพิ่มมวลกระดูก เสริมสร้างกำลังกล้ามเนื้อส่วนล่าง และพัฒนาการทรงตัว เช่น วิ่งเหยาะ เดินสลับวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินขึ้นบันได ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล กระโดดเชือก เป็นต้น ในกรณีผู้สูงอายุหรือมีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) ไม่ควรวิ่ง หรือเล่นกีฬาหนักๆ แต่ควรออกกำลังกายที่เบาลง ได้แก่ เดินเร็วๆ เดินขึ้นบันได รำมวยจีน รำจี้กง รำไท้ฉีควรออกกำลังกายครั้งละ40 นาทีขึ้นไปสัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย หรือออกกำลังกายครั้งละ 30 นาทีทุกวัน
  • รับประทานอาหารให้ได้แคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี และ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป โดยอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงเช่นนม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งแห้งตัวเล็ก ผักใบเขียว ถั่ว งา เต้าหู้
  • เพิ่มวิตามินดีซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียม ช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและป้องกันการหกล้ม โดยรับแสงแดดอย่างพอเพียง เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี (รับแสงแดดประมาณ 30 นาทีต่อวัน โดยเวลาที่เหมาะสม คือ 8.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 17.00 น.)รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเช่นนม ปลาที่มีน้ำมัน
  • หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีได้มากพอก็รับประทานยาเม็ดหรือผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมและวิตามินดี
  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัดและโปรตีนสูงเพราะเพิ่มการขับแคลเซียมจากไต รับประทานโปรตีนแต่พอดี
  • งดดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลมงดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา
  • จัดสภาพแวดล้อมในบ้านและสถานที่ที่ไปเยือนบ่อยเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม เช่นปูพื้นด้วยวัสดุกันลื่น ไม่วางของเกะกะบนพื้น มีไฟส่องสว่างเพียงพอเปิดไฟไว้ในทางเดินกับห้องน้ำตอนกลางคืน มีราวจับในห้องน้ำและบันได การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินเช่นโครงเหล็กช่วยเดิน 4 ขา การปรับพฤติกรรมการลุกยืนและเดินให้ช้าลงและมั่นคงขึ้น เป็นต้น
  • การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 60 ปีในบางกรณีตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อใดที่ต้องรับการรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่อง?

ตอบ : แพทย์อาจพิจารณารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่องโดยการใช้ยาและวิธีการอื่นๆ เมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • เมื่อมีกระดูกสันหลังหรือสะโพกหักจากภยันตรายไม่รุนแรง
  • ค่าความหนาแน่นกระดูก(BMD) ต่ำกว่า – 2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกส่วนกลางของร่างกาย (Axial DXA)
  • ผลจากการคำนวณความเสี่ยงด้วย FRAX score พบว่ามีโอกาสที่จะมีกระดูกสะโพกหักในระยะเวลา 10 ปี (10-year probability risk of hip fracture) ตั้งแต่ร้อยละ 3 ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าควรเริ่มต้นการรักษาเมื่อไรและใช้วิธีใดการรักษานั้นขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ซึ่งต้องปรับให้เข้ากับสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนตามความเหมาะสม

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ในการดูแลและป้องกันทั้งตัวเองหรือคนที่คุณรัก ให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุน และถ้าท่านใดต้องการเข้ารับการตรวจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากหมอได้ครับ

เอกสารอ้างอิง

  • แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
  • ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ (บรรณาธิการ) 2558 .การดูแลรักษาภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนแบบองค์รวม
  • T. Songpatanasilp et al. Thai Osteoporosis Foundation (TOPF) position statements on management of osteoporosis. Osteoporos Sarcopenia. 2016 Dec;2(4):191-207

บทความโดย
นพ.สลักธรรม โตจิราการ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้