โรครองช้ำ ดูแลตัวอย่างไร ?

โรครองช้ำ ภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

เกิดจากการอักเสบหรือฉีกขาดของเอ็นพังผืดใต้ฝ่าเท้า โดยที่พังผืดใต้ฝ่าเท้า ทำหน้าที่รองรับการกระแทกและกระจายแรงจากน้ำหนักของร่างกายในขณะที่เรามีการลงน้ำหนักเพื่อยืนหรือเดิน  การใช้งานเท้าซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง หรือการรับน้ำหนักที่มากเกินไประหว่างวัน โดยปราศจากความยืดหยุ่น จะทำให้เกิดแรงตึงตัวระหว่างเอ็นพังผืดใต้ฝ่าเท้าและส้นเท้าที่มากขึ้น จนท้ายที่สุดอาจทำให้ทั้งส้นเท้าและเอ็นพังผืดใต้ฝ่าเท้าได้รับความเสียหายจากการฉีกขาด และส่งผลให้เกิดการอักเสบตามมา

อาการของโรครองช้ำ

ผู้ป่วยโรครองช้ำส่วนใหญ่มักจะมีอาการเหมือนหรือใกล้เคียงกัน โดยอาการอาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลาหรือจะเป็น ๆ หาย ๆระหว่างวันแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาการของโรครองช้ำมีดังนี้

  1. มีอาการปวดบริเวณส้นเท้าในแนวตามแถบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าเท่านั้น
  2. มีอาการเจ็บแปล๊บบริเวณส้นเท้าหรือฝ่าเท้าหลังตื่นนอนหรือก่อนนอน บางรายมีอาการเจ็บแปร็บระหว่างวันขณะไม่มีการใช้งานยืนเดิน
  3. มีความรู้สึกเหมือนโดนของแหลมหรือของแข็งแทงขึ้นมาจากบริเวณใต้ส้นเท้าหรือฝ่าเท้า
  4. มีอาการปวดแบบโดนของร้อน ๆ สัมผัสหรือร้อนวูบวาบเป็นพักๆในบริเวณที่มีอาการปวด
  5. ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดลดลงเมื่อได้เดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งหลังจากมีอาการ

ปัจจัยหรือสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดรองช้ำ

  1. น้ำหนักตัวที่เยอะเกินไป เนื่องจากน้ำหนักตัวจะส่งผลโดยตรงต่อการกดทับที่มากขึ้นของของพังผืดใต้ฝ่าเท้า
  2. การออกกำลังกายบางชนิด เช่น การวิ่งเหยาะช้าๆ อยู่กับที่หรือวิ่งเร็ว การเต้นแอโรบิค รวมถึงการปั่นจักรยาน
  3. การยืนหรือเดินนานเกินไป รวมไปถึงลักษณะชีวิตประจำวันที่มีการขยับเคลื่อนไหวในลักษณะการยืนและเดินทั้งต่อเนื่องและฉับพลันตลอดทั้งวัน
  4. ลักษณะของรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับการกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เช่น รองเท้าพื้นแข็ง หรือ ส้นสูง
  5. โครงสร้างของเท้า เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงหรือโก่งผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลทำให้รูปแบบการเดินผิดปกติเช่นกัน
  6. มีภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า เมื่อมีการตรวจพบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยรองช้ำบางคนอาจพบการงอกของกระดูกผิดปกติบริเวณส้นเท้า
  7. ภาวะเอ็นร้อยหวายหดตึง หรือกล้ามเนื้อบริเวณน่องหดตึง จะทำให้การทำกิจกรรมประเภทยืนหรือเดินได้ลดลง การตึงตัวที่มากขึ้นของกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย จะทำให้ส่งผลให้เกิดการดึงรั้งพังผืดส้นเท้าและใต้ฝ่าเท้ามากขึ้น
  8. ไขมันบริเวณส้นเท้าฝ่อตามอายุ ซึ่งเป็นปกติของภาวะเสื่อมตามวัย แต่มีส่วนทำให้อุ้งเท้าและฝ่าเท้าได้รับแรงกระแทกจนเกิดเป็นภาวะอักเสบหรือบาดเจ็บของพังผืดใต้ฝ่าเท้า ในเวลาต่อมา

การดูแลตนเองในโรครองช้ำ

การรักษาโดยส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาและมีการดูแลตัวเองต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร เนื่องจากพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยส่งผลโดยตรงต่อตัวโรค อย่างไรก็ตามโรครองช้ำเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ การดูแลตนเองในภาวะบาดเจ็บและอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าพื้นฐาน มีดังนี้...

  1. เลือกรองเท้าให้เหมาะกับเท้า ใช้แผ่นรองเท้า หรือสวมใส่รองเท้าส้นนิ่ม หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
  2. พักกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานานเพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า
  3. แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นทุกวัน เช้าหรือเย็น หรือ ทั้งเช้าและเย็น ครั้งละ 15-20 นาทีโดยควรแช่น้ำมิดข้อเท้าและเอ็นร้อยหวาย

4. หมั่นกายภาพบำบัด นวดคลึง ยืดกล้ามเนื้อน่องและพังผืดฝ่าเท้าเป็นประจำทุกวันโดยยืดแค่รู้สึกตึง ไม่รู้สึกเจ็บหรือปวด ค้างไว้ 15 วินาที 10-20 ครั้งต่อท่า ทำสลับกันทั้งเท้าซ้ายและขวา

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้