โรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน (Seperation anxiety disorder, SAD)

โรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน (Seperation anxiety disorder, SAD) เพราะการแยกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย

ความวิตกกังวลจากการแยกจากกันเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็กช่วงอายุ 18 เดือนถึง 3 ปี แต่หากอาการของความวิตกกังวลนั้นรุนแรงและเป็นเรื้อรังนานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะต้องนึกถึงโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน เนื่องจากเป็นโรควิตกกังวลที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก พบประมาณ 1-4% ของเด็ก อายุเฉลี่ยที่เริ่มมีอาการคือ อายุ 7 ปี ยังไม่มีการศึกษาความชุกของผู้ใหญ่ที่เป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน

เด็กที่เป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจากจะมีความรู้สึกหวาดกลัวและวิตกกังวลเมื่อต้อง อยู่ห่างจากบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งมักจะเป็นพ่อ แม่ หรือผู้ดูแลคนอื่นๆ ในเด็กบางคนอาจมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัวหรือปวดท้อง อาการมักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแยกจากหรือเมื่อคิดว่าต้องแยกทางกัน เพราะเด็กกังวลว่าอาจจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลหากเด็กจากไป เด็กที่ยังเล็กมากอาจไม่สามารถระบุความคิดที่น่ากลัวได้) ส่งผลให้เกิดปัญหาพฤติกรรมต่างๆตามมา เช่น ....

  • ไม่ยอมเข้านอนคนเดียวโดยไม่มีผู้ดูแลอยู่ใกล้ๆ
  • กลัวการอยู่คนเดียว
  • มีฝันร้ายเกี่ยวกับการแยกจากกัน
  • ปัสสาวะรดที่นอน
  • ไม่ยอมไปโรงเรียน
  • ไม่เล่นกับเด็กคนอื่นๆ เป็นต้น

พฤติกรรมดังยกตัวอย่างไป อาจทำให้เด็กพลาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอาการจะลดลงทีละน้อยเมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตามลำดับ แต่ความวิตกกังวลจากการพลัดพรากสามารถดำเนินไปในวัยผู้ใหญ่ได้ และในบางรายอาจเริ่มมีอาการในวัยผู้ใหญ่ซึ่งอาจเกิดตามมาภายหลังจากเผชิญเหตุการณ์เกี่ยวกับการสูญเสียบุคคอันนี้เป็นที่รัก เข่น การเสียชีวิตหรือการหย่าร้าง เป็นต้น

สาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน อาจเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ พื้นอารมณ์ของเด็กที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น มีพื้นอารมณ์เดิมปรับตัวยากหรือปรับตัวช้า ปัจจัยทางจิตใจและสิ่งแวดล้อม เข่น การตายของสมาชิกในครอบครัว การย้ายบ้านหรือเปลี่ยนโรงเรียน การถูกเลี้ยงดูในลักษณะปกป้องหรือประคบประหงมมากเกินไป สมาชิกในครอบครัวมีความวิตกกังวลหรือความผิดปกติทางจิตอื่นๆ การที่เด็กไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัยกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลได้ เป็นต้น ซึ่งเด็กที่เป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน ยังสามารถพบโรคร่วมอื่นๆได้อีก เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ  และโรคซึมเศร้า

การช่วยเหลือและการรักษาจึงมีความสำคัญ เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆที่จะพบตามมา ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำและให้การบำบัดปรับพฤติกรรมเพิ่อช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีจัดการกับความวิตกกังวลของตนได้ดีขึ้น มีการให้คำแนะนำผู้ดูแลเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของเด็กได้ ช่วยให้ผู้ปกครองมีวิธีสร้างความผูกพันมั่นคงทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยแม้เวลาที่ต้องแยกจากกัน นอกจากนี้ยังมีการให้ยาลดความวิตกกังวลซึ่งอาจช่วยให้เด็กบางคนรู้สึกสงบขึ้น และการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทางโรงเรียนเพื่อโรงเรียนจะสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กต่อไป

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้