โรคหัวใจ ความเสี่ยง...ที่เลี่ยงได้


โรคหัวใจ ความเสี่ยง...ที่เลี่ยงได้ !! 

โรคหัวใจคืออะไร ? 
โรคหัวใจเกิดจากความผิดปกติ ด้านการทำงานของหัวใจ และส่งผลเสียกับร่างกาย ซึ่งโรคหัวใจแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหัวใจ
โดยปกติแล้ว อาการโรคหัวใจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็น แต่โดยส่วนใหญ่จะมาอาการที่จะช่วยให้เราสังเกตตัวเองได้ หลักๆ อยู่ 5 อาการ ได้แก่...

  • แน่นหน้าอก เจ็บหรือจุกหน้าอก
  • มีอาการเหนื่อยหอบ, เหนื่อยง่ายตอนออกแรง
  • อาการบวม เช่น ขาบวม เท้าบวม
  • ใจสั่น ใจหวิว
  • มีอาการวูบ เป็นลมหมดสติ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
          สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ จะมีหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่...
กลุ่มที่ 1 ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น...

  • ความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด กรรมพันธุ์ ซึ่งหากพบว่าสมาชิกภายในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็จะเพิ่มอัตราเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปเช่นกัน
  • อายุที่มากขึ้น ส่งผลทำให้อวัยวะภายใน อย่างหัวใจเกิดความเสื่อมลง
  • เพศ  พบว่า ผู้ชายมักมีอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงกว่าผู้หญิง

กลุ่มที่ 2 ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น...

  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งหากผู้ป่วยในกลุ่มโรคประจำตัวเหล่านี้ สามารถควบคุมให้ปกติได้ ก็จะช่วยทำให้การเกิดโรคหัวใจน้อยลงได้
  • ยา สารเคมี เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ยาคีโม หรือแม้กระทั่ง กลุ่มยาลดน้ำหนักหรือความอ้วน
  • การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่หัวใจ และส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจได้ในที่สุด  

การวินิจฉัย ตรวจหาโรคหัวใจ สามารถทำได้โดยวิธีใดบ้าง ?

  • ซักประวัติ และตรวจร่างกาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรค
  • การตรวจคลื่นหัวใจ
  • การอัลตราซาวน์หัวใจ เพื่อดูเรื่องโครงสร้าง และการทำงานของหัวใจ การบีบตัว และลิ้นหัวใจ
  • การตรวจสมรรถภาพในการเดินสายพาน เพื่อดูว่ามีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบหรือไม่
  • การ X-Ray คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 
  • การสวนหัวใจ เพื่อเป็นการดูว่าเส้นเลือดในหัวใจมีปัญหาด้านใดบ้าง
    ทั้งหมดนี้จะเป็นการวินิจฉัยเพื่อหาว่าโรคหัวใจนั้น เป็นโรคหัวใจแบบใด

รูปแบบการรักษาโรคหัวใจ
รูปแบบและวิธีการรักษาโรคหัวใจนั้น จะแตกต่างออกไปตามประเภทของโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ รวมถึงข้อจำกัด และดุลยพินิจของแพทย์ แต่โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการรักษา ดังนี้...

  • การรักษาด้วยการใช้ยา
  • สวนหัวใจ เพื่อทำบอลลูน ขยายหลอดเลือด
  • ฝังเครื่อง กระตุ้นไฟฟ้าในกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การจี้หัวใจ ด้วยเทคโนโลยี EPS 2D หรือ 3D เพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การผ่าตัด

ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้การรักษาแบบใด แต่สุดท้ายแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กัน จะหนีไม่พ้นเรื่องการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง การรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พัะกผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด จะช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้

บทความโดย
นพ. ไพบูลย์ เชี่ยวชาญธนกิจ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้