ทางเลือกเพิ่มโอกาสมีบุตร ด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ตั้งครรภ์มากที่สุด “IVF หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว”
เป็นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ โดยการคัดเซลล์ไข่ ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชาย ปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิสนธิแล้ว จึงย้ายตัวอ่อน หรือเอ็มบริโอ (EMBRYO) กลับโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยเทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก
1.การกระตุ้นไข่ (Controlled ovarian hyperstimulation)
เป็นการใช้ยาฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ไข่โตหลายใบและให้ไข่สุกพร้อมๆกัน
ควรทำเมื่อไหร่ : วันที่2 หรือ 3 นับจากวันที่มีประจำเดือนวันแรก
เวลาที่ใช้ : 9-12วัน
เป้าหมายของการกระตุ้นไข่ คือการกระตุ้นให้ไข่ที่เตรียมโตในรอบเดือนนั้นๆ โตขึ้นให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่มีในแต่ละรอบด้วยยา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ได้ไข่โตเต็มวัยที่มีคุณภาพสูง ระหว่างนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องมาพบแพทย์ที่คลินิกทุกๆ 3-4 วัน ในช่วงเวลา 10 ถึง 12 วัน เพื่อตรวจเลือดและอัลตราซาวด์ ดูว่ารังไข่ตอบสนองต่อ ยากระตุ้นไข่อย่างไร เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยากระตุ้นให้ไข่สุกระยะสุดท้าย และกระตุ้นการตกไข่ เพื่อช่วยให้ไข่สุกและหลุดออกจากผนังของฟองไข่ พร้อมสำหรับการเก็บไข่ในขั้นตอนต่อไป
2.การเก็บไข่ (Egg Retrieval)
เป็นเก็บไข่หรือ เจาะดูดไข่ ที่ได้รับการกระตุ้นแล้วออกมาเพื่อทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ
ควรทำเมื่อไหร่ : 36-38 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก
เวลาที่ใช้ : 1-2 ชั่วโมง
กระบวนการเก็บไข่ จะทำโดยใช้อัลตราซาวด์นำเพื่อให้เห็นฟองไข่ชัดเจน และใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผนังช่องคลอด เข้าไปในฟองไข่และ
ดูดเก็บไข่ออกมา ตลอดกระบวนการ แพทย์จะให้ยาสลบ จึงแทบไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ ใช้เวลาในการเก็บไข่ประมาณ 15-45 นาที
3.การเก็บน้ำเชื้อฝ่ายชาย (Sperm)
เป็นการคัดแยกตัวอสุจิออกจากน้ำอสุจิสำหรับการปฏิสนธิกับไข่
ควรทำเมื่อไหร่ : วันที่ฝ่ายหญิงได้รับการเก็บไข่
เวลาที่ใช้ : 1 ชั่วโมง
ในวันที่ฝ่ายหญิงได้รับการเก็บไข่ ฝ่ายชายจะต้องมาเก็บน้ำเชื้อ โดยปกติแล้วแนะนำให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิในวันเดียวกับวันเก็บไข่ที่คลินิก
แต่ถ้าหากฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถมาเก็บอสุจิก่อน แล้วแช่แข็งน้ำเชื้อไว้ล่วงหน้า และละลายมาใช้ในวันเก็บไข่
ในวันเก็บอสุจิ แพทย์จะให้ฝ่ายชายทำการช่วยตัวเองให้หลั่งลงในภาชนะปลอดเชื้อที่เตรียมไว้ภายในห้องส่วนตัวสำหรับคุณผู้ชาย หลังจากนั้นอสุจิจะ
ถูกส่งตรงไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรววจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ โดยในกรณีทำ ICSI ทีมแพทย์จะทำคัดเลือกอสุจิตัวที่สมบูรณ์ที่สุด
แข็งแรงที่สุด และมีการเคลื่อนไหวดีที่สุดมาฉีดเข้าสู่ไข่เพื่อไปปฏิสนธิ
สำหรับฝ่ายชายที่มีปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศ เช่น ภาวะท่อนำอสุจิอุดตัน (Obstruction azoospermia: OA) ภาวะหลั่งอสุจิย้อนทาง (Anejaculation) หรือภาวะหมันในเพศชาย (Male infertility) แพทย์จะใช้วิธีการเก็บน้ำเชื้อโดยตรงจากท่อนำอสุจิ หรืออัณฑะ(PESA/TESE) โดยใช้เข็มขนาดเล็กดูดอสุจิจากท่อนำน้ำเชื้อ เปาะเก็บน้ำเชื้อ หรือโดยตรงจากลูกอัณฑะก่อนที่จะนำมาปฏิสนธิโดยการทำ ICSI
4.การปฏิสนธิ (Fertilization)
เป็นขั้นตอนที่ไข่กับอสุจิผสมกันในห้องปฎิบัติการเพื่อให้ได้ตัวอ่อน
ควรทำเมื่อไหร่ : หลังเก็บไข่และคัดเลือกน้ำเชื้อ
เวลาที่ใช้ : 1 วัน
การปฏิสนธิโดยการทำIVF จะปล่อยให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่เองตามธรรมชาติ แต่การทำICSI จะมีการคัดเลือกอสุจิ 1 ตัว แล้วทำการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ หลังปฏิสนธิจะได้เป็นตัวอ่อนภายในห้องปฏิบัติการ
5.เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฎิบัติการ
เป็นเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฎิบัติการที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มข้นของก๊าซ ความเป็นกรด-ด่าง และอาหารเลี่ยงตัวอ่อน ให้ใกล้เคียงกับครรภ์มารดามากที่สุด จนถึงระยะที่ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้
เวลาที่ใช้ : 5-6 วัน
ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ 5-6 วัน จนเติบโตถึงระยะบลาสโตซิสต์ หลังจากนั้นตัวอ่อนที่แข็งแรงและคุณภาพดี จะถูกย้ายกลับสู่โพรงมดลูก หรือถูกนำไปแช่แข็งไว้เตรียมย้ายในรอบอื่นๆ
6.การย้ายตัวอ่อน (Embryo Transfer : ET)
ย้ายตัวอ่อนจากห้องปฏิบัติการกลับเข้าสู่โพรงมดลูกที่เตรียมไว้เพื่อการฝังตัวของตัวอ่อน
ควรทำเมื่อไหร่ : หลังเก็บไข่5-6วัน หรือ หลังรับประทานยาเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังประจำเดือนมารอบถัดไปนับจากรอบเก็บไข่
เวลาที่ใช้ : 30 นาที-2ชั่วโมง
การย้ายตัวอ่อนมี 2 วิธี คือการย้ายตัวอ่อนรอบสด และการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง
การย้ายตัวอ่อนเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บ แพทย์จะสอดสายย้ายตัวอ่อนเข้าไปผ่านช่องคลอดและปากมดลูกจนถึงโพรงมดลูก ควบคู่กับการใช้อัลตราซาวด์ช่วยนำทางปลายสายให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในโพรงมดลูกก่อนที่จะฉีดตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวตรงตำแหน่งที่ต้องการ หลังย้ายตัวอ่อน แพทย์จะให้นอนพัก 20-30นาที หลังจากนั้นจึงจะให้กลับได้
7.ดูแลหลังการย้ายตัวอ่อน และการตรวจการตั้งครรภ์
เมื่อทำการย้ายเสร็จสิ้น ตัวอ่อนจะเริ่มฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโต หลังการย้ายตัวอ่อน 7-10 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์หลังย้ายตัวอ่อน 10-14 วัน หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์อีกครั้งเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
สำหรับตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่ยังไม่ได้ทำการย้ายตัวอ่อน สามารถแช่แข็ง เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคตได้ วิธีการนี้ช่วยให้ตัวอ่อนถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างยาวนานและคงคุณภาพสูง
การปฏิบัติตัวหลังย้ายตัวอ่อน
พญ.พัชรินทร์ เกียรติสารพิภพ
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้มีบุตรยาก
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน