ขั้นตอนการทำ Sleep Test สำหรับ คนนอนกรน มีปัญหาการนอนหลับ

นายแพทย์ฉัตรกรินทร์ เทพวิมลเพชรกุล อายุรแพทย์โรคจากการนอนหลับ

Sleep Test คืออะไร

สําหรับการตรวจการนอนหลับ หรือว่า sleep test  เราตรวจเพื่อทําการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะการหายใจที่ผิดปกติตอนนอน

อย่างเช่นเรื่องของ 'ปัญหานอนกรน' หรือว่ามีปัญหาเรื่องของ 'หยุดหายใจขณะหลับ' รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น มีอาการขากระตุก ฝันออกท่าทาง เราก็สามารถมาตรวจ Sleep Test เพื่อที่จะหาความผิดปกติได้

ขั้นตอนในการทำ Sleep Test

สำหรับคนไข้ที่เข้ามารับบริการตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต มีขั้นตอนในการเข้ารับบริการดังนี้

1.ตรวจเพื่อประเมิน

คนไข้จะต้องมาทำการตรวจเพื่อประเมิน ว่ามีข้อบ่งชี้ในการทำการตรวจการนอนหลับหรือเปล่า?

2.นัดตรวจการนอนหลับ

หลังจากนั้นถ้าเกิดสมมุติว่าคนไข้มีข้อบ่งชี้รวมถึงความจำเป็นในการจะต้องส่งตรวจการนอนหลับ เราจะทำนัดตรวจการนอนหลับ เพื่อที่จะทำการวินิจฉัยว่า สรุปแล้วคนไข้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมากน้อยเท่าไหน

โดยที่ขั้นตอนจะมีการติดต่อเพื่อที่จะมาทำการนัดตรวจการนอนหลับภายหลัง หลังจากนั้นพอคนไข้ตรวจเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้เลย หลังจากนั้นมาฟังผลเพื่อทำการตรวจรักษาแล้วก็แจ้งผลตรวจ

3.แบ่งอาการตามระดับความรุนแรง เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

โดยปกติแล้วคนไข้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือว่าโรคนอนกรน จะมีการแบ่งในแง่ของระดับความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น

  • ระดับเล็กน้อย
  • ระดับปานกลาง
  • ระดับรุนแรง

ซึ่งในแต่ละระดับก็จะมีความเหมาะสมต่อการรักษาแตกต่างกัน

วิธีการรักษา

  • เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ เครื่องซีแพค  ( CPAP : Continuous Positive Airway Pressure )  เครื่องนี้จะเหมาะสมกับคนไข้ทุกระดับความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรุนแรงระดับเล็กน้อย ปานกลางหรือแม้กระทั่งรุนแรง โดยจากงานวิจัยพบว่า สามารถทำให้คนไข้ที่มีอาการง่วงนอนกลับมามีอาการสดชื่นได้ในตอนเช้า
  • อุปกรณ์ทันตกรรม ก็จะเป็นอุปกรณ์ลักษณะคล้ายๆ กับอุปกรณ์จัดฟันแต่ว่าเป็นลักษณะที่ปรับได้ โดยที่จะมีทันตแพทย์เฉพาะทางเป็นคนทำ โดยคนไข้ที่เหมาะกับกลุ่มการใช้อุปกรณ์ทันตกรรมอาจจะเป็นในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการกรนปกติ หรือว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้นอยู่ในระดับเล็กน้อย หรือปานกลาง แต่ยังไงก็ตาม เบื้องต้นแนะนำว่าต้องมาตรวจประเมินในเรื่องของการสบฟัน
  • การลดน้ำหนัก จะเห็นว่าในกลุ่มคนไข้ที่มีน้ำหนักเยอะ การที่เราสามารถลดน้ำหนักได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือในปัจจุบันนี้มียาฉีดเพื่อทำการลดน้ำหนัก รวมถึงการผ่าตัดเพื่อทำการลดน้ำหนัก ก็จะสามารถทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงได้ โดยยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดสมมุติว่าเราสามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้ความรุนแรงของโรคดีขึ้นได้ถึง 26 เปอร์เซ็นต์หรือบางการศึกษาเนี่ยพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์
  • การนอนตะแคงข้าง พบว่าในกลุ่มคนไข้ที่เป็นเล็กน้อย เราก็อาจจะใช้วิธีการนอนตะแคงข้างได้ แต่มีประเด็นสำคัญก็คือคนไข้อาจจะต้องจัดท่าทางการนอนให้เหมาะสมกระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง ไม่อย่างงั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องปวดคอบ่าไหลตามมาได้

สุดท้ายที่คนไข้มักจะถามบ่อยๆ ว่าแก้ปัญหาการนอนกรน ด้วยการผ่าตัดได้ไหม?

โดยส่วนใหญ่แล้ว จากงานวิจัยพบว่าในกลุ่มคนไข้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยเฉพาะที่ระดับรุนแรงขึ้นไป แพทย์คงไม่ได้แนะนำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเป็นการรักษาลำดับแรก เนื่องจากว่าหลังจากผ่าตัดไปแล้วคนไข้ก็อาจจะมีความจำเป็นจะต้องกลับมาใช้เครื่องต่อ เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนไข้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แพทย์แนะนำว่า ถ้าเกิดสมมุติว่ารักษาโดยการใช้เครื่องได้หรือรักษาโดยการใช้วิธีการรักษาอื่นๆได้ แล้วมีการตอบสนองที่ดี การผ่าตัดแพทย์อาจจะไม่ได้แนะนำเป็นการรักษาแรก ยกเว้นในกลุ่มคนไข้บางรายที่ตรวจร่างกายแล้ว พบว่ามีปัญหาในเรื่องของต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) อย่างชัดเจน แพทย์จะนำส่งไปปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อทำการผ่าตัดเรื่องของต่อมทอนซิลได้ แต่ยังไงก็ตามอาจจะต้องอาศัยในเรื่องของความเห็นของแพทย์เฉพาะทางในการให้ความเห็น

นายแพทย์ฉัตรกรินทร์ เทพวิมลเพชรกุล

อายุรแพทย์โรคจากการนอนหลับ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้