ข้อดี-ข้อจำกัด การทำเด็กหลอดแก้ว IVF

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ IVF (ไอวีเอฟ) หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว   (IN-VITRO FERTILIZATION )

เป็นเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ โดยการคัดเซลล์ไข่ ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชาย  ปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิสนธิแล้ว จึงย้ายตัวอ่อน หรือเอ็มบริโอ (EMBRYO) กลับโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยเทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก

ข้อดีของการทำเด็กหลอดแก้ว

✓สามารถตรวจโครโมโซม เพื่อลดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้

✓สามารถคัดกรองโรคทางพันธุกรรมกลุ่มเสี่ยงบางอย่างภายในครอบครัว เพื่อแก้ไขปัญหาทารกคลอดผิดปกติทางพันธุกรรมได้

✓เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้สูง เทียบกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติและการฉีดเชื้อ

✓สามารถเก็บไข่ น้ำเชื้อและตัวอ่อนได้เป็นระยะเวลานาน

✓สามารถทำได้ในฝ่ายหญิงและฝ่ายชายที่เคยผ่านการทำหมันมาแล้ว

ข้อจำกัดในการทำเด็กหลอดแก้ว

  • ราคาค่อนข้างสูง
  • ใช้เวลาในการกระตุ้นไข่และย้ายตัวอ่อนนาน ถ้าเทียบกับการฉีดเชื้อ แต่โอกาสตั้งครรภ์สูงกว่า
  • ภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS) การตั้งครรภ์แฝด การติดเชื้อหลังการเก็บไข่

ความเสี่ยงของการทําเด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น

  • ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS) ภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อยากระตุ้นมากเกินไป ทำให้มีอาการท้องอืด, กดเจ็บที่บริเวณช่องท้อง, มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจมีอาการรุนแรงได้หากไม่ได้ดูแล
  • มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์แฝดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนตัวอ่อนที่ย้าย, อายุฝ่ายหญิง, สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ยิ่งมีการย้ายตัวอ่อนจำนวนมากเท่าใด และฝ่ายหญิงมีอายุน้อยมากเท่าใด โอกาสในการตั้งครรภ์แฝดก็ยิ่งสูงขึ้น เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝด (แฝดสอง, แฝดสาม ฯลฯ) แพทย์จะแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนกลับเพียงแค่ตัวเดียว
  • เลือดออกหรือติดเชื้อหลังการเก็บไข่
  • มีโอกาสท้องนอกมดลูก พบได้น้อยมาก
  • ความผิดปกติของโครโมโซม, ภาวะออทิสติก, ภาวะความผิดปกติทางสติปัญญา, และความผิดปกติโดยกำเนิด : บางงานวิจัยพบว่าการรักษาด้วยวิธี ICSI อาจสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิค IVF และการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ แต่หากมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวควบคู่ไปด้วย จะช่วยเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงของทารกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรมได้มากกว่าวิธีตามธรรมชาติ และลดโอกาสแท้งได้

อาการที่ควรไปพบแพทย์หลังทำเด็กหลอดแก้ว

ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากกําลังทำเด็กหลอดแก้วแล้วมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูง ( >38.5 องศาเซลเซียส)
  • ปวดท้องน้อย
  • ตกขาวผิดปกติ
  • มีเลือดออกมากทางช่องคลอด
  • ปัสสาวะแสบขัด หรือมีเลือดปะปน

พญ.พัชรินทร์ เกียรติสารพิภพ

สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้มีบุตรยาก

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้