โรคข้อไหล่ติด(Adhesive capsulitis / Frozen shoulder) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนกลุ่มวัยกลางคน อายุ 40 - 60 ปีโดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดและเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ลำบาก โดยที่อาการจะเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเอ็นหุ้มไหล่ ทำให้มีการหนาตัวและเกิดการหดรั้งของเอ็นหุ้มข้อไหล่
โรคข้อไหล่ติดจะพบได้บ่อยในบุคคลที่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้แขนเคลื่อนไหวในท่าหรือทิศทางเดิมซ้ำๆเป็นประจำ เช่น เอื้อมหยิบของ เหวี่ยงแขน แกว่งแขน กระชากดึงหรือยกของหนัก ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดจากการนอนทับข้อไหล่เป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยบางรายประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อไหล่จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเอ็นหุ้มไหล่ ในบางรายมีอาการอักเสบของเอ็นหุ้มไหล่จากการมีกระดูกปลายแขนหัก ต้องใส่เฝือกจนไม่ได้ใช้งานข้อไหล่เป็นเวลานาน
ทางการแพทย์จะแบ่งช่วง ระยะการดำเนินการของโรคข้อไหล่ติดออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่…
ระยะที่ 1 Freezing phase เป็นช่วงที่มีที่มีการอักเสบอาการเจ็บปวดที่รุนแรงโดยเฉพาะในช่วงกลางคืนจนรบกวนการพักผ่อนและการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจะปวดมาก แต่จะยังไม่มีการติดแข็งของข้อไหล่
ระยะที่ 2 Frozen phaseระยะนี้จะมีอาการปวดลดลงแต่จะมีอาการติดของไหล่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการหมุนแขนเข้า-ออกและการกางแขน ผู้ป่วยมักบอกว่าไม่สามารถกางแขน ยกแขนไม่สุดช่วง หรือ เอื้อมมือหวีผมไม่ได้ ในเพศหญิงจะติดตะขอเสื้อในด้านหลังไม่ได้
ระยะที่ 3 Thawing phaseเป็นช่วงที่ผู้ป่วยขยับข้อไหล่ได้ลดลง อาการเจ็บปวดโดยทั่วไปจะลดลงเช่นกัน ผู้ป่วยบางรายจะสามารถขยับข้อไหล่ได้มากขึ้นแบบช้าๆ
ทั้งนี้อาการทั้ง 3 ระยะของโรคข้อไหล่ติดจะมีการดำเนินการของโรคที่ยาวนาน การรักษาข้อไหล่จนกลับมาใช้งานได้ปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับอาการแต่ละบุคคล
กายภาพบำบัดในโรคข้อไหล่ติด
1.1 ยกแขนท่านั่ง
A. ท่าตั้งต้น นั่งหลังตรง มือประสานกัน
B.ท่าบริหาร ยกแขนขึ้นให้สุดช่วงเท่าที่ได้ โดยใช้มือข้างที่ปกติ ประคองข้างเจ็บ
ยกขึ้น 20 ครั้ง /เซ็ต โดยทำ 2 - 3 เซ็ต/วัน
1.2 ยกแขนท่านอน
A. ท่าตั้งต้น:นอนหงาย
B.ท่าบริหาร :ยกแขนขึ้นให้สุดช่วงเท่าที่ได้ ใช้มือข้างที่ปกติ ดันศอกข้างที่เจ็บให้เหยียดไปเหนือศีรษะเมื่อสุดช่วงให้ค้างไว้ 10 วินาที ก่อนนำแขนลง
บริหารท่านี้ 20 ครั้ง / เซ็ตโดยทำ 2 - 3 เซ็ต / วัน
2. การขยับสะบักเพื่อความมั่นคงของการเคลื่อนไหวข้อไหล่
A.ท่าตั้งต้น : นั่งหรือยืนตรง ออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อสะบัก
B.ท่าบริหาร : บีบให้เข้าหาแกนกลางลำตัว
ควรทำท่าบริหารสะบัก 20 ครั้ง / 1 เซ็ตโดยทำ 2 - 3เซ็ต/วัน
3. การยืดต้นแขนเพื่อลดการตึงตัวของไหล่ด้านหน้า
A. ท่าตั้งต้น:เหยียดแขนหรือตั้งฉากศอกกับกำแพง
B.ท่าบริหาร :หมุนตัวไปด้านตรงข้ามกับแขนที่เท้ากับกำแพง จนรู้สึกตึงที่ต้นแขนหรือหน้าไหล่
ค้างไว้ในจุดที่รู้สึกตึง 15 วินาที 10 ครั้ง/เซ็ต โดยทำ 2 - 3 เซ็ต/วัน
A. ท่าตั้งต้น ทิ้งแขนลงกับพื้นในแนวตั้งฉาก
B.ท่าบริหาร ผ่อนคลายข้อไหล่ เหวี่ยงแขนเป็นวงกลมตามแรงโน้มถ่วงโดยไม่ออกแรงช่วย
หมุนไหล่ 20 ครั้ง / 1 เซ็ต ทำทั้งไปและกลับ 2 เซ็ต/วัน
การดูแลตนเองพื้นฐานในโรคข้อไหล่ติด
นอกจากการทำกายบริหารแล้วผู้ป่วยสามารถที่จะประคบร้อนและประคบเย็นที่ข้อไหล่เวลาที่มีอาการปวดได้ไม่แนะนำให้นวด/บีบเค้นในบริเวณที่ปวด การประคบร้อนหรือเย็น ให้พิจารณาและปฏิบัติ ดังนี้...
ประคบร้อน (Hot) | ประคบเย็น (Cold) |
กล้ามเนื้อตึงเกร็ง หรือ ต้องการให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว | มีการอักเสบเพิ่มขึ้น ทราบได้จากการปวดเพิ่ม ผิวแดง ข้อไหล่ร้อนวูบวาบ |
ทำก่อน/หลังกายบริหาร 15 - 20 นาที / ครั้ง | ทำหลังกายบริหารเมื่อปวดเพิ่ม 10 – 15 นาที / ครั้ง |
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน