APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

ถอดบทสัมภาษณ์ นพ.ธีรนันท์ "หยุด!! พฤติกรรมการบูลลี่ เพื่อยุติความรุนแรงทางจิตใจ" ช่อง Thai PBS

ถอดบทสัมภาษณ์ ของนพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ "หยุด !! พฤติกรรมบูลลี่ในเด็ก เพื่อยุติความรุนแรงทางจิตใจ" รายการ วันใหม่วาไรตี้ ช่อง Thai PBS

ปัจจุบันการบูลลี่กันในเด็ก ทั้งเด็กที่ถูกผู้อื่นบูลลี่ และเด็กที่ไปบูลลี่คนอื่น นับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาจิตใจได้ในระยะยาว ทั้งนี้พ่อแม่ และผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็ก ควรหมั่นสังเกตุและใส่ใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก เพื่อสนับสนุนพลังใจรวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกัน ยับยั้งพฤติกรรมการบูลลี่ในเด็ก

โดยวันนี้เราจะมาพาทุกท่านมาอ่านบทสัมภาษณ์ ของคุณหมอธีรนันท์ มิตรภานนท์ จิตแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการวันใหม่วาไรตี้ ช่องไทยพีบีเอส โดยมีคุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรมดาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการยับยั้งปัญหาที่เกิดจากการบูลลี่  

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) :  นิยามของคำว่าบูลลี่ มันคืออะไรคะ ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ : การบูลลี่ คือ การกลั่นแกล้งกัน ซึ่งมันก็จะส่งผลกระทบต่างๆ แต่จริงๆแล้ว การบูลลี่มีหลายแบบ อย่างเช่น การทำร้ายร่างกาย อย่างที่สอง คือ คำพูด การต่อว่ากันโดยตรง การนินทา การเรียกชื่อสรรพนาม ฉายาต่างๆ แต่จะมีอีกแบบที่สังคมยังไม่ทราบ คือ การบูลลี่ทางสังคม เช่น การล็อบบี้ในหมู่เพื่อนให้แบนคนคนหนึ่ง ส่วนนี้ก็มีผลกระทบมาก...เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการบูลลี่แบบไซเบอร์บลูลี่ (cyberbullying)  การกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ โซเชียล นับว่าเป็นความเสี่ยงที่ผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างพอสมควร

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : แล้วการบูลลี่แบบการเรียกลักษณะของคนอื่นที่ผิดแผกไปจากคนอื่น คำนำหน้าต่างๆ บางคนอื่นอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้คุณหมอมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :  จริงๆ แล้ว เรื่องบูลลี่นะครับ สำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้ก่อนว่ามันใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก การใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจจะเผลอไปบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว ลำดับแรกเราควรรู้ตนเองก่อน มีสติก่อนว่าการกระทำใดที่เราได้ทำไป แม้เราไม่คิดอะไร แต่จริงๆแล้วอาจจะมีผลกับคนอื่น ไม่ว่าจะเรียกชื่อ การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการสอนในลักษณะคล้ายการต่อว่า หมอจึงอยากจะแนะนำว่า อย่างน้อยควรรู้ตนเองก่อนจะทำอะไร จะพูดอะไร ควรคิดก่อน ควรพูดอะไรที่เป็นเชิงบวกเสมอ เลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : ที่คุณหมอพูดมาดีมาก เพราะหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ จริงๆ แล้วผิดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นควรมองในมุมบวกไว้ เพราะการกระทำที่ออกมาจะบวกตาม งดเว้นเรื่องของการไปพูดถึงรูปลักษณ์ภายนอก แต่ทีนี้การบูลลี่ในผู้ใหญ่ บางคนอาจมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว แต่การบูลลี่ในเด็กอาจส่งผลแย่กว่า เพราะเด็กอาจภูมิต้านทานต่ำกว่า เพราะตอนนี้เราได้ยินข่าวเยอะมาก เช่น เด็กไม่ไปโรงเรียน ไม่เข้าสังคม กลายเป็นคนละคน จากเป็นเด็กร่าเริง แต่พอไปโรงเรียนกลับกลายเป็นคนไม่อยากเข้าสังคม แบบนี้มีวิธีการสังเกตุว่าเด็กกำลังมีปัญหาการถูกบูลลี่อย่างไรบ้าง ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :  ง่ายๆ คือ สังเกตุพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ว่ากำลังเผชิญกับการถูกบูลลี่ เช่น มีอาการซึมเศร้า พูดน้อยลง อะไรที่ชอบทำก็ไม่อยากทำ พยายามสังเกตุตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อประเมิน ที่สำคัญควรหมั่นถามไถ่เด็ก เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ? ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ? เป็นต้นครับ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : แล้วในกรณีของเด็กที่เป็นผู้กระทำ (ผู้กลั่นแกล้งคนอื่น) เอง ควรมีวิธีจัดการอย่างไร

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :   ต้องเข้าใจก่อนครับ ว่าลึกๆแล้ว เราต้องการให้สังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้นการไปประณามคนที่รังแกผู้อื่น ชีวิตของคนนั้นก็มีแต่จะแย่ลง และอาจจะเป็นผลเสียต่อสังคมในอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งควรทำ คือ การให้ความรัก ให้อภัยเด็กคนนั้นก่อน และบ่อยครั้งเรามักพบว่า เด็กที่ไปแกล้งคนอื่น ก็มักจะมีความอึดอัดใจ ความเจ็บป่วย เช่น มีปัญหาโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะถูกกดดัน ปัญหาครอบครัว ซึ่งจริงๆ เด็กกลุ่มนี้ก็ควรจะพบจิตแพทย์ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่คนที่ถูกแกล้งอย่างเดียว

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : พอเรามอง 2 มุมมองแบบนี้ คือ ระหว่างเด็กที่ถูกรังแก และเด็กที่รังแกผู้อื่นแล้ว อยากให้คุณหมอพูดถึง พื้นฐานความสำคัญของครอบครัวว่าสำคัญขนาดไหน หลายๆครอบครัว ควรสั่งสอนเด็กอย่างไรคะ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :    หลักๆ แล้ว ไม่ใช่การสั่งสอนอย่างเดียวครับ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันเลย คือการสร้างเสริมสุขภาพใจ ความมั่นใจตนเอง ให้ความรัก ความอบอุ่น แล้วสักวันหนึ่งเด็กจะมีภูมิต้านในตัวเอง พ่อแม่และครอบครัวควรให้การยอมรับ และการทำความเข้าใจในเด็ก ใช้การเสริมสร้างกำลังใจในทางบวกมากกว่าลบ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการยับยั้งการการบูลลี่ ไซเบอร์บูลลี่ (cyberbullying) ควรทำอย่างไรดีคะ ?

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ :    สำคัญที่สุดคือหลายๆ ภาคส่วนของสังคมควรช่วยเหลือกันไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พื้นฐานครอบครัวที่จะช่วยในการขัดเกลาพฤติกรรมเด็กสม่ำเสมอ

คุณภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ผู้ดำเนินรายการ) : สุดท้ายแล้ว คือ พื้นฐานครอบครัวสำคัญอย่างมาก เพราะครอบครัวต้องใช้เวลาร่วมกับเด็ก เรียนรู้และเข้าใจ ต้องเติบโตไปพร้อมๆกับเด็ก

รับชม Video เพิ่ม

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้