ถอดประสบการณ์ของครอบครัวผู้ป่วยเด็ก"คาวาซากิ" ที่หมอวินิจฉัยว่า มีภาวะแทรกซ้อนทางด้านโรคหัวใจ…
ไข้คาวาซากิเป็นโรคที่พบมานานเกือบ 50 ปีแล้ว โดยที่เรายังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เราเชื่อว่าเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสบางตัวโดยที่เชื้อที่เป็นต้นเหตุนั้นหายไปแล้ว ทำให้ตรวจไม่พบแต่ภูมิคุ้มกันนั้นก่อให้เกิดปฏิกิริยาของอวัยวะหลายๆอย่างในร่างกาย โรคนี้พบมากในประเทศญี่ปุ่นและประเทศทางซีกโลกตะวันออกรวมทั้งประเทศไทย
วันนี้เรามาอ่านบทสัมภาษณ์ของครอบครัวผู้ป่วยเด็กหญิง อายุเพียง 9 เดือน ณ ขณะนั้น ที่ได้เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต และหมอวินิจฉัยว่าน้องมีอาการของไข้คาวาซากิ และต่อมากุมารแพทย์หัวใจ พบว่าน้องมีภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจ ที่เป็นผลมาจากไข้คาวาซากิ
ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้ทางครอบครัวช่วยเล่าเหตุการณ์ตอนน้องป่วยแรกๆ หน่อยค่ะ
ครอบครัวผู้ป่วย (คุณยาย) : ในช่วงเย็น ได้พาน้องมาอาบน้ำ รับประทานนมเสร็จ แล้วสังเกตเห็นว่า บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีลักษณะบวมๆ เหมือนมีอะไรต่อยเลยทายาให้ แต่ตอนนั้นไม่มีไข้ ไม่มีอาการอะไรเลย แต่ช่วงดึกเวลาประมาณตีสาม น้องรับประทานนม แล้วมีอาการอาเจียน และมีผื่นขึ้น ผื่นขึ้นจากด้านหลังก่อน และลามมาด้านหน้า และลงขา...
ครอบครัวผู้ป่วย (คุณแม่) : น้องมีลักษณะเป็นผื่นแดงๆ วันแรกที่เป็นจะเป็นด้านหลังก่อน ตอนแรกพาน้องไปหาหมอที่คลินิกก่อน แต่ว่าไข้ไม่ลด และน้องเริ่มมีอาการตาแดง ก็เลยรีบพามาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต เพื่อให้คุณหมอตรวจ เพราะว่า ตาน้องแดง คล้ายอาการออกหัด และเมื่อคุณหมอตรวจพบว่า หัวใจน้องฟังแล้วเสียงไม่ปกติ คุณหมอเลยให้น้องแอดมิท
เมื่อครอบครัวพาน้อง(ผู้ป่วย) มาถึงโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต แพทย์พบว่าน้องมีอาการไข้คาวาซากิ และพบว่าน้องมีภาวะแทรกซ้อนจากเป็นไข้คาวาซากิ โดยพบว่ามความผิดปกติทางด้านหัวใจ... ในส่วนนี้จะเป็นการถอดบทสัมภาษณ์ การบอกเล่าอาการของผู้ป่วย ในด้านของแพทย์ โดย นพ.ธนะรัตน์ ลยางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต และกุมารแพทย์ชำนาญการด้านโรคหัวใจเด็ก
ผู้สัมภาษณ์ : คุณหมอช่วยอธิบาย ภาวะอาการแทรกซ้อนของน้องให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ
นพ.ธนะรัตน์ ลยางกูร : น้องมีภาวะแทรกซ้อนทางด้านหัวใจ จากการไข้คาวาซากิ โดยพบว่าลักษณะเสียงหัวใจที่แปลกของน้อง คือ มีเสียงคล้ายม้าควบ กรุบ กรุบ โดยเสียงหัวใจลักษณะนี้ ทีมแพทย์ฟังกันหลายคน และลงความเห็น ความมั่นใจว่ามันไม่ปกติ โดยปรากฎว่าลำดับแรก มีเยื่อหุ้มน้ำในช่องเบื่อหุ้มหัวใจ และมีลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อยทางด้านซ้าย หลอดเลือดหัวใจที่ไปเลี้ยงหัวใจยังไม่โตแต่มีความหนา มีลักษณะหนาผิดปกติ จากการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ ฉะนั้นจากการที่ได้ยินว่าเสียงหัวใจเต้นผิดปกติ น่าจะเกิดจากลิ้นหัวใจรั่ว ทีมแพทย์เลยไม่รอช้า เพราะกลัวจะเกิดปัญหามากขึ้น เลยตัดสินใจรักษาโดยทันที
ผู้สัมภาษณ์ : กลับมาในด้านของครอบครัวนะคะ อยากถามถึงความรู้สึกตอนนั้นค่ะตกใจมั้ยคะ พอดีทราบมาคร่าวๆว่า ทางครอบครัวไม่รู้จักเรื่อง "ไข้คาวาซากิ" เลย
ครอบครัวผู้ป่วย (คุณแม่) : ตอนรู้ว่าน้องเป็นไข้คาวาซากิ และพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ ก็ตกใจค่ะ กลัว่าจะเป็นอะไรมาก เพราะหัวใจน้องไม่ปกติ ประทับใจคุณหมอที่ใส่ใจเร่งตรวจหาสาเหตุ รักษาและให้ยาทันที คุณหมอไม่ปล่อยเวลา พอรู้แล้วรักษาทันที
ก่อนจบการสัมภาษณ์ ในฐานะผู้ให้บริการทางแพทย์ และเนื่องจากไข้คาวาซากิ พ่อๆแม่ๆ หรือผู้ปกครองหลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักไข้คาวาซากิ และความรุนแรงของโรคนี้มากเท่าไหร่ จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึง และคอยสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอ
ผู้สัมภาษณ์ : ในฐานะทีมแพทย์ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงโรคคาวาซากิอย่างไรคะ ?
นพ.ธนะรัตน์ ลยางกูร : โรคนี้ ปัจจุบันพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมากในอดีต แต่มันสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ ถ้าพ่อแม่ หรือผู้ปกครองท่านใดที่มีบุตรหลานที่มีไข้หลายๆวัน มีลักษณะตาแดง สงสัยว่าจะเป็นโรคหัด หรือมีผื่นขึ้น ตาแดง ปากแดง มีตุ่มวัคซีนบวมแดงร่วมด้วย ก็จะยิ่งน่าสงสัยมากขึ้น เช่นนั้นควรจะต้องได้รับการตรวจโดยกุมารแพทย์ เพื่อแยกภาวะนี้ ทั้งนี้จะได้ให้แพทย์ทางด้านหัวใจช่วยดูอาการด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะไข้คาวาซากิ มักส่งผลภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน