อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่ถ้ามีอาการปวดท้องประจำเดือน
ช่วงที่มีประจำเดือน มดลูกจะมีการหลั่งสารเคมีในร่างกายบางชนิด ซึ่งสารนี้จะมีผลไปกระตุ้นให้มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจึงทำให้เกิดอาการปวดท้องตอนมีประจำเดือน อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นปัญหาของผู้หญิงที่พบได้บ่อย โดยมีการเก็บข้อมูลพบว่าอาการปวดท้องประจำเดือนพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 16 - 91 อาการปวดท้องประจำเดือนมักมีอาการก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน หรือเกิดระหว่างมีประจำเดือนช่วงวันแรกๆ โดยทั่วไปอาการปวดท้องประจำเดือนอาจเกิดได้แต่ไม่มีควรมีอาการมากผิดปกติ และไม่ควรมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดร้าวไปที่ก้นกบหรือร้าวลงขา มีอาการเจ็บตอนมีเพศสัมพันธ์ คลำได้ก้อนที่หน้าท้อง ปวดข้างใดข้างหนึ่ง และปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด เป็นต้น
การบรรเทาอาการปวดท้องประเดือนเบื้องต้นด้วยยา
ผู้ป่วยหญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนสามารถรักษาโดยรับประทานยาลดปวดได้ด้วยตนเอง โดยส่วนมากสามารถรับประทานยา Ponstan 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร เช้า เที่ยง เย็น และ/หรือ ร่วมกับยา Paracetamol 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง (ในกรณีที่ไม่มีอาการแพ้ยาดังกล่าว) แต่ไม่ควรรับประทานยาเกินขนาดและเกิน 5 วันเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาได้ และถ้าอาการปวดท้องไม่บรรเทาลง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค เพราะอาจจะไม่ใช่อาการปวดท้องประจำเดือนธรรมดาเพียงอย่างเดียว
ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียวหรือไม่
ถ้ามีอาการปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ อาจจะมีรอยโรคอื่นร่วมด้วย เช่น มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจจะเจริญที่กล้ามเนื้อมดลูกหรืออวัยวะอื่นๆในอุ้งเชิงกราน เพราะฉะนั้นควรตรวจวินิจฉัยให้ทราบแน่ชัดเสียก่อนว่าอาการปวดนั้นเป็นผลมาจากโรคร่วมอื่นๆหรือไม่ ซึ่งต้องประเมินทั้งอาการ ตัวโรค และความรุนแรงของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาว่าสามารถรักษาได้ด้วยยา เช่น ยาฮอร์โมน หรือมีข้อบ่งชี้ที่ต้องรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
อาการปวดท้องน้อยมีโรคอื่นที่ต้องระวังอะไรบ้าง
อาการปวดท้องน้อยนอกจากปวดท้องประจำเดือนแล้ว อาจปวดจากสาเหตุอื่นได้อีกหลายสาเหตุ เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีก้อนหรือถุงน้ำที่อวัยวะอุ้งเชิงกราน โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคมะเร็งที่อวัยวะอุ้งเชิงกราน เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์ต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย อาจต้องต้องพิจารณาตรวจอัลตราซาวน์เพื่อหาความผิดปกติที่บริเวณอุ้งเชิงกราน รวมถึงอาจต้องเลือดเลือดตรวจปัสสาวะเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค
บทความโดย
นพ.ศรุฒก์ กิจอันเจริญ
แพทย์เฉพาะทางด้านสูติ-นรีเวชกรรม
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน