ทำไมผู้ป่วยเบาหวานต้องดูแลเท้าเป็นพิเศษ ?
ความเสี่ยงต่อการเกิดแผล และปัญหาของเท้าที่พบบ่อยในผู้เป็นเบาหวาน เช่น เท้าผิดรูป หรือแผลเรื้อรังที่เท้า เป็นปัญหาสำคัญ มีผลต่อคุณภาพชีวิต และอาจเป็นสาเหตุของความพิการไปจนถึงสูญเสียเท้าหรือขา เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของปลายประสาท โดยเริ่มที่ปลายเท้าก่อน ทำให้มีอาการเท้าชา หากไม่ระวังอาจเกิดแผลที่เท้าโดยไม่รู้ตัว การเป็นเบาหวานทำให้แผลหายช้า อีกทั้งการที่ไม่รู้สึกเจ็บทำให้ยังใช้เท้าเดินต่อไป จะทำให้แผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถหายได้ ดังนั้นถ้าหากเรารู้จักวิธีการดูแลเท้าที่ถูกต้องและปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดแผลที่เท้า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
วิธีดูแลเท้าที่ถูกต้อง
- ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและตรวจเช็คค่าความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ทำความสะอาดเท้าทุกวัน เช็ดเท้าให้แห้งทันทีด้วยผ้าที่สะอาด ซอกระหว่างนิ้วควรเช็ดให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการอับชื้นและการติดเชื้อ
- สำรวจเท้าและเล็บเท้าอย่างละเอียดทุกวันว่ามีแผล รอยแดง บวมหนังด้าน หรือมีเล็บขบหรือไม่ โดยเฉพาะตามซอกระหว่างนิ้วเท้า หากมีปัญหาเรื่องสายตา มองไม่เห็น มองไม่ชัด ควรใช้กระจกส่อง หรือ ให้ญาติ/คนใกล้ชิดตรวจเท้าให้
- ใช้ครีมหรือโลชั่นทาบริเวณหลังเท้าและฝ่าเท้า ป้องกันเท้าแห้ง แต่ห้ามทาครีมบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้าเพราะจะทำให้หมักหมมอับชื้น
- หากต้องใช้น้ำอุ่น ให้ใช้ศอกตรวจวัดอุณหภูมิก่อนอุณหภูมิที่ปลอดภัยคือไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส
- ใส่ถุงเท้าในเวลากลางคืน หากมีอาการเท้าเย็น
- ควรตัดเล็บทุกสัปดาห์หรือบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากการปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดเล็บขบ หรือการติดเชื้อตามมา ถ้าเล็บหนาไม่สามารถตัดเองได้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญการดูแลเท้าตัดเล็บให้
- หากมีหนังด้านเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการดูแลหนังด้านอย่างปลอดภัย ไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง
- ควรสวมถุงเท้าหรือถุงน่องที่ไม่แน่นเกินไปก่อนใส่รองเท้าเสมอ หากถุงเท้ามีตะเข็บควรกลับด้านในออกเพื่อไม่ให้ตะเข็บกดผิวหนังเป็นแผล ถุงเท้าที่ใส่ควรจะสะอาด และเปลี่ยนคู่ใหม่ทุกวัน
- ตรวจดูรองเท้า ทั้งภายในและภายนอกก่อนสวมใส่ทุกครั้ง เพื่อระวังสิ่งแปลกปลอม ป้องกันการเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว
- ใส่รองเท้าที่พอดีและเหมาะสมกับรูปเท้า ไม่ใส่รองเท้าที่คับและหน้าแคบจนบีบหน้าเท้า หรือสั้นจนนิ้วเท้างอ รองเท้าที่เหมาะสมควรกว้างและยาวพอสำาหรับนิ้วเท้าทุกนิ้ว
- หากมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับเท้าแม้เพียงเล็กน้อย หรือมีแผลใหญ่เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ข้อห้ามปฎิบัติเกี่ยวกับเท้า
- ห้ามสูบบุหรี่ เพราะทำให้เลือดไหลเวียนลดลง มีโอกาส เกิดแผลได้ง่ายและทำให้แผลหายช้า
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง เพราะอาจจะเกิดการกดทับเส้นประสาทบริเวณหัวเข่าได้
- ห้ามสวมถุงเท้าหรือพันผ้ายืดรอบขาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
- ห้ามแช่เท้าในน้ำทุกชนิด เพราะจะทำให้ผิวแห้ง และมีโอกาสเกิดแผลได้ง่ายขึ้น
- ห้ามตัดเล็บลึกถึงจมูกเล็บ และห้ามตัดลึกเข้าไปในมุมเล็บ เสี่ยงให้เกิดแผล
- ห้ามตัดหนังด้านด้วยตนเอง เพราะผู้เป็นเบาหวานมักมีปัญหาเรื่องมือชา เท้าชา และสายตาไม่ดี ทำให้มีโอกาสตัดพลาดไปถูกผิวหนังบริเวณรอบๆ ได้
- ห้ามใช้สารเคมีใดๆ ลอกหนังด้านด้วยตนเอง เพราะจะเป็น อันตรายต่อผิวและเกิดแผลได้
- พยายามหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าเพราะอาจเดินเตะหรือเหยียบสิ่งแปลกปลอมจนเกิดเป็นแผล
- ห้ามเดินเท้าเปล่าบนพื้นผิวที่ร้อน เช่น บนหาดทราย ระเบียงวัด หรือพื้นซีเมนต์
- ห้ามใส่รองเท้าแตะประเภทคีบระหว่างนิ้วเท้า เพราะทำให้เกิด แผลตรงซอกนิ้วเท้าได้ง่าย
การออกกำลังกายเท้า
เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายเท้า โดยบริหารเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 5-10 นาที
- กระดกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้าๆ
- หมุนข้อเท้า โดยหมุนเข้าและหมุนออกช้าๆ
- ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อ
- นั่ง ยกขาขึ้น เหยียดเข่าตึง แล้วกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้นับ 1-6 ในใจถือเป็น 1 ครั้ง