APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

ภาวะอ้วนในเด็ก

เลี้ยงลูกจ้ำม่ำน่ากอด ส่งผลเสียกว่าที่คิด

“จากสถิติพบว่ามีเด็กทั่วโลกเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่ามาตั้งแต่ปี 1980 และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และ 10 ปีที่ผ่านมา พบเด็กไทย ‘อ้วน’ ติดอันดับ 3 ในอาเซียน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก ปัจจุบันเด็ก ‘เมินนมแม่’ ทานนมผง มากขึ้น”

จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

โรคอ้วน

เป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างพลังงานที่บริโภค (Energ intake)กับการใช้พลังงาน (Energy Expenditure)

ภาวะอ้วนในเด็ก

เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ และปริมาณไขมันมากเกินกว่าปกติ เมื่อเทียบกับน้ำหนักและความสูงมาตรฐานในช่วงอายุและเพศเดียวกัน  ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่ และไขมันสูงมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ

สาเหตุการเกิดภาวะอ้วนในเด็ก

  • อ้วนจากพันธุกรรม โรคอ้วนอาจเกิดขึ้นได้หาก มีพ่อแม่ประวัติโรคอ้วนมาก่อน
  • เด็กที่ทานนมผง มีแนวโน้มที่จะอ้วนกว่าเด็กที่เล้ยงด้วยการทานนมแม่
  • โรคหรือกลุ่มอาการจำเพาะ เช่น Down syndrome, Prader Willi syndrome, Laurence-Moon-Biedl syndrome,pseudohypoparathyroidism เป็นต้น ซึ่งพบได้ในเด็กที่อ้วนและเตี้ย ในเด็กกลุ่มนี้มักมีระดับสติปัญญาด้อยกว่าปกติด้วย
  • เครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้สังเคราะห์
  • รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น ของทอด ของมัน อาหาร Fast food
  • ไม่ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวน้อย ร่างกายขาดการเผาผลาญ จากพฤติกรรมชีวิตประจำวัน เช่น เล่นเกม ดูทีวี

สัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กอาจมีภาวะโรคอ้วน

  • จากรูปร่างที่อ้วนอย่างชัดเจน
  • คำนวนดัชนีมวลร่างกาย (Body Mass Index : BMI) มากกว่า 25 kg/m2
  • ดูน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ (Weight for Age) ดูจากปริมาณน้ำหนักตัวเทียบกับเด็กที่อายุเท่ากัน เมื่อนำค่าน้ำหนักตามเกณฑ์อายุมาจุดที่กราฟการเจริญเติบโต (Growth Chart) จุดที่เหมาะสม คือ Percentile 50-75
  • ดูน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (Weight for Height) ดูจากปริมาณน้ำหนักตัวที่เหมาะสมเทียบกับความสูงของเด็ก  แต่ละคน ภาวะอ้วนคือ % weight for Height มากกว่า 140
  • การวัดไขมันใต้ผิวหนัง โดยแพทย์ที่มีความชำนาญการในการใช้เครื่องมือ หากเด็กมีโอกาสเกิดโรคอ้วนจากการวินิจฉัยตามข้อดังที่กล่าวมา แพทย์อาจทำการตรวจเลือดร่วมด้วยเพื่อ
    • ระดับไขมันในเลือด
    • ระดับน้ำตาลในเลือด (หลังงดอาหาร)
    • ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติในเด็กอ้วน หรือน้ำหนักเกิน
    • ระดับวิตามินดีในเลือด

หมายเหตุ - การตรวจเลือดบางชนิดมีการปฏิบัติตัวที่ต่างกัน ควรสอบถามแพทย์ถึงการปฏิบัติตัวก่อนรับการตรวจ

อันตราย และผลกระทบจากภาวะอ้วนในเด็ก

  • ต่อจิตใจ
    • โรคอ้วนอาจนำไปสู่ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย หรือโตวัยกว่าอายุ อาจทำให้โดนล้อเลียนด้วยร่างกายที่โตไวกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
    • ขาดความมั่นใจในตัวเอง จากการโดนเพื่อนล้อในรูปร่างร่างกาย อาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าได้
  • ต่อสุขภาพร่างกาย
    • โรคอ้วนอาจนำไปสู่ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย หรือการที่ร่างกายโตไวกว่าอายุ อาจทำให้หยุดสูงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
    • เสี่ยงการเกิดความผิดปกติของระดูกและข้อได้ จากการรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป 50-70% เช่น เท้าแบน กระดูกโค้งงอ ขาโก่ง เดินลำบาก
    • มีอาการปวดสะโพกและขา สามารถแก้ไขด้วยการลดน้ำหนัก และใช้อุปกรณ์พยุงเดิน
    • ตามบริเวณข้อพับเป็นปื้นสีดำ เหมือนคนเป็นเบาหวาน จากการเกิดภาวะร่างกายที่ดื้ออินซูลิน
    • เบาหวาน หากร่างกายมีภาวต่อต้านอินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ง่าย และมีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน โดยเฉพาะช่วงเข้าวัยรุ่น
    • ความดันโลหิตสูง
    • ไขมันในเลือดสูง
    • โรคผิวหนัง เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย
    • ตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ
    • ในเด็กผู้หญิง เสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำในรังไข่ ทำให้มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
    • มีปัญหาการนอนหลับ เช่น การนอนกรน อาจส่งผลให้หยุดหายใจขณะหลับ หายใจติดขัดเวลานอน บางครั้งทำให้หลับไม่สนิท หากอาการรุนแรง อาจทำให้ ‘หยุดหายใจขณะหลับได้’
    • จากงานวิจัยในปัจจุบัน ภาวะอ้วนส่งผลให้ร่างกายอยู่ในสภาวะอักเสบเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะโรคอ้วนในเด็ก

  • โรคมะเร็งบางชนิด

เด็กอ้วน เมื่อเข้าสู่วัยผู้ให้อาจมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป  เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี

  • ระบบทางเดินอาหารและตับ

มีภาวะไขมันพอกตับ และภาวะกรดไหลย้อน

  • ระบบผิวหนัง

มีเหงื่อออกมาก ทำให้บริเวณตามข้อพับอับชื้น และเกิดผื่น  บริเวณข้อพับเป็นปื้นสีดำ เหมือนคนเป็นเบาหวาน จากการเกิดภาวะร่างกายที่ดื้ออินซูลิน

  • ระบบหายใจ

เหนื่อยง่ายจากการที่มีไขมันสะสมในช่องอก ช่องท้องมีภาวะหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับได้

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด

ความดันโลหิตสูง มีระดับไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

  • ระบบต่อมไร้ท่อ

เสี่ยงเกิดเป็นเบาหวานชนิดที่สอง , อาจมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ , ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย, ภาวะถุงน้ำในรังไข่

  • ระบบกระดูกและข้อ

เท้าแบน ปวดเข่าและสะโพก จากน้ำหนักเกิน

เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง... ไม่จำเป็นต้องกินเก่ง หรือกินได้เยอะ

เด็กที่มีแนวโน้วที่จะเป็นภาวะอ้วน ครอบครัวเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่มีอิทธิพลในการใช้ชีวิต ทั้งในการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย ควรปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสมโดยที่

  • ควบคุมปริมาณอาหาร ควรให้บริโภคแต่พอดี เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง เช่นข้าวกล้อง ผักผลไม้
  • หลีกเลี่ยงอาหารและขนม ที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น อาหารจำพวกแป้ง ของมัน ของทอด ขนมหวาน ขนมคบเคี้ยว และเครื่องอื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชีวิตประจำวัน ชวนทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น วิ่งเล่น ขึ้นบันได
  • พาลูกเข้านอนให้เป็นเวลา นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก

แนวทางการรักษา

  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา

เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยเด็ก โดยเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยตั้งเป้าหมาย ลดน้ำหนักอย่างน้อย 10% ใน 6 เดือน ได้แก่

-ออกกำลังกายเน้นการออกกำลังแบบแอโรบิค วันละ 30 นาทีขึ้นไป อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์  ปรับพฤติกรรมโดยเพิ่มการเดินมากขึ้น เช่น เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์  ไม่นั่งแช่อยู่หน้าจอทีวีเป็นเวลานาน

- ลดปริมาณการรับประทานอาหาร โดยคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่เหมาะสมต่อวัน ลดอาหารประเภท ของทอด น้ำหวาน น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง

  • การรักษาโดยการใช้ยา

  แนะนำในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนของภาวะอ้วนหรือมีภาวะอ้วนรุนแรง  ได้แก่

 - ยาลดนำหนักแบบรับประทาน  ในปัจจุบัน ใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีภาวะอ้วนรุนแรง

 - รักษาตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น เบาหวานชนิดที่ 2  รักษาโดยใช้ยากิน เช่น metformin หรือยาฉีด เช่น GLP-1 receptor agonist เป็นต้น, ภาวะไขมันในเลือดสูง รักษาโดยใช้ยาลดไขมัน เช่น statins เป็นต้น

  • การรักษาโดยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (bariatric surgery)

ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนรุนแรง ซึ่งรักษาด้วยการรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ซึ่งหากไม่ได้รับการผ่าตัดอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ ซึ่งผู้ป่วยควรมีอายุ 13 ปีขึ้นไป รวมทั้งสามารถปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยและผู้ปกครองควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาเป็นอย่างดี และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

เพราะปัญหาร่างกายในวัยเด็ก อาจส่งผลเสียต่ออนาคตมากกว่าที่คิด

ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงดู และยังมีอิทธิพลต่อการรับประทานอาหารของเด็ก ควรใส่ใจ ร่วมมือป้องกันแต่เนิ่นๆ หากพบว่าลูกของเรามีภาวะโรคอ้วน สิ่งที่เราทำได้ คือการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันสูง เช่น แป้ง ของหวาน ของมัน ของทอด การเล่น ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามวัย เพื่อให้ลูกของเรามีสุขภาพที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรค และการเจ็บป่วย หากเกิดปัญหาแล้ว ในครอบครัวควรให้กำลังใจกัน เพื่อให้เด็กมีช่วงเวลาชีวิตในวัยเด็กอย่างมีความสุข เพื่อพร้อมรับมือการเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์

ภาวะอ้วนในเด็ก หากไม่รีบรักษา อาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ 

การตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อคัดกรองโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน หากพบว่าลูกของเราเสี่ยงภาวะโรคอ้วน ควรได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์  เพื่อหาสาเหตุรวมถึงดูแลรักษา เพื่อหาวิธีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

พ.ญ.อัมพาพรรณ์ นรสุนทร
(กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม)

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้