รักษามะเร็งตับด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?

โรคมะเร็งตับเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยมานาน หากตรวจพบช้าจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้นการการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เเละได้รับรักษาอย่างถูกวิธี สามารถทำให้ปลอดจากโรคได้

รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร หัวหน้าศูนย์รังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคมะเร็งตับถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอับดับต้นๆ ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในเพศชาย เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีเลือดเข้าไปเลี้ยงมาก และเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยกำจัดสารพิษและของเสีย ผลิตน้ำดีในการย่อยอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สร้างและเก็บสะสมแป้งและไขมันเพื่อเป็นพลังงาน และรักษาสมดุลในร่างกาย ดังนั้นเมื่อเซลล์บริเวณตับเกิดการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติจนพัฒนากลายมาเป็นมะเร็งตับ(Liver Cancer)ได้ในที่สุด สาเหตุของมะเร็งตับ เกิดได้จากภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การดื่มแอลกอฮอล์ ไขมันเกาะตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่พบมากในถั่วลิสงเเห้งหรือพริกป่นแห้งที่ไม่สะอาด อาการที่เป็นสัญญาณเตือนคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด แน่น และเจ็บบริเวณท้องบนด้านขวาและลิ้นปี่ คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ และเมื่อมะเร็งทำลายตับมากขึ้นหรือเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มคลำเจอก้อนขนาดใหญ่ใต้ชายโครงด้านขวา ที่ต้องระวังคือโรคมะเร็งตับในระยะแรกนั้นจะไม่ค่อยแสดงอาการ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ ทำได้โดย....

  1. การตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นวิธีเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด
  2. ตรวจเลือดหาค่า AFP ซึ่งเป็นสารบ่งชี้มะเร็งตับ หากมีค่า AFP สูงอาจบ่งบอกได้เบื้องต้นว่ามีเซลมะเร็งตับในตัวคนไข้ ซึ่งแพทย์จะอาจพิจารณาให้ตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
  3. การตรวจด้วยการเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  4. การตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เห็นความผิดปกติของตับอย่างชัดเจน
  5. การตัดชิ้นเนื้อตรวจด้วยเข็ม (needle biopsy) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งตับได้อย่างตรงจุด

การรักษามะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะของโรค เริ่มตั้งแต่

  1. การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาที่ได้ผลเเต่ต้องระวังถึงผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง ที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงตับวายหลังผ่าตัดได้
  2. การใช้เข็มจี้ด้วยความร้อน ซึ่งอาจใช้คลื่นไมโครเวฟ (microwave) หรือ คลื่นความถี่วิทยุ (RF) ใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร วิธีนี้ข้อดีคือเนื้อตับถูกทำลายน้อย ช่วยทำลายเซลล์มะเร็งได้แบบถาวร นอน รพ.เเค่คืนเดียว แผลเล็กเเค่ 3 มม.ทำให้ฟื้นตัวเร็วมาก
  3. การให้เคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดง (Transarterial Chemoembolisation หรือ TACE) เป็นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับในกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงและก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 ซม. โดยการสอดกล้องหรือท่อเล็กๆ เข้าไปทางหลอดเลือดแดงตรงขาหนีบเเล้วใช้เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดตรวจหาหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกที่ตับ จากนั้นให้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งและให้สารอุดกั้นหลอดเลือดแดง ทำให้ก้อนเนื้องอกถูกทำลายลงและขาดเลือดไปเลี้ยง

ปัจจุบันกระบวนการรักษามะเร็งตับ จะพยายามเลี่ยงการทำลายส่วนของเนื้อตับปกติ ที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง ฉะนั้นเทคโนโลยีการรักษามะเร็งตับที่ช่วยให้สามารถทำลายก้อนเนื้อได้แบบตรงจุด คือทางเลือกที่ดีต่อผู้ป่วย Fusion Ultrasound ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถดึงภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มารวมกับภาพจากเครื่องอัลตราซาวด์ กลายเป็นภาพ 4 มิติที่มองเห็นก้อนเนื้อและขอบเขตได้ละเอียด ช่วยในการรักษาได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อนำมาใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งตับด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Microwave Ablation) ที่ใช้พลังงานความร้อนเข้าไปทำลายก้อนเนื้อ เเละใช้เครื่องมือรังสีวินิจฉัย เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) ช่วยนำทาง จึงช่วยให้ทำลายก้อนเนื้อได้ถูกตำแหน่ง ลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ ดังนั้นการตรวจเลือดว่าเรามีเชื้อหรือมีภูมิต้านทานของไวรัสทั้งสองชนิดนี้หรือไม่ เป็นวิธีการที่จะป้องกันมะเร็งตับได้ดีที่สุด หากพบว่าไม่มีเชื้อและยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกัน แต่หากพบว่ามีเชื้อ ก็สามารถทำการรักษาได้ในปัจจุบัน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของไวรัสตับอักเสบบีและซี ควรปรึกษากับแพทย์ทางอายุรกรรมหรือแพทย์อายุรกรรมระบบตับทางเดินอาหาร

พฤติกรรมที่อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงมะเร็งตับ ด้วยวิธีดังนี้

  1. งดสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งของหมัก ของดอง เพราะการกินติดต่อเป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งที่อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับ
  2. เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงเพราะอาหารไขมันสูงส่งผลให้ตับทำงานหนักในการสร้างน้ำดีมาย่อยอาหาร
  3. ควบคุมน้ำตาลเเละน้ำหนักเพื่อไม่ให้เสี่ยงกับโรคเบาหวานและโรคอ้วน ซึ่งเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่งของโรคมะเร็งตับ
  4. เลี่ยงการทานยาติดต่ดกันเป็นเวลานานมากเกินไป เพราะยาเกือบทุกชนิดส่งผลต่อการทำงานของตับเเละควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  5. เลี่ยงอาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin)

รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร
แพทย์รังสีร่วมรักษาด้านมะเร็งตับ
และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้