รักษามะเร็งตับผ่านหลอดเลือด

โรคมะเร็งตับส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ มีผู้ป่วยเพียง 10 – 20% เท่านั้นที่มีโอกาสเข้าสู่การการผ่าตัด หรือการเปลี่ยนตับ หากก้อนเนื้อมีขนาดเล็กกว่า 4 – 5 ซ.ม. เราสามารถใช้วิธีการฝังเข็มความร้อนที่เรียกว่า RF (ดูรายละเอียดในบริการทางการแพทย์หัวข้อ RF) แต่หากก้อนมีขนาดมากกว่านั้น หรือมีจำนวนหลายก้อน เราจะใช้วิธีการที่เรียกว่า TOCE หรือ TACE ซึ่งเป็นวิธีการไม่ผ่าตัดเช่นกัน แต่เป็นการสอดท่อเล็กๆ ที่เรียกว่า สายสวน (Catheter) นั่นเอง

เมื่อแพทย์ได้เลือกวิธีการรักษาด้วยวิธีผ่านหลอดเลือดแสดงว่าท่าน หรือผู้ป่วยได้รับโอกาสที่ดีในการเข้ารับการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่มีโอกาสที่จะรักษาได้เลย วิธี TOCE หรือ TACE เป็นวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัด แต่เป็นการใส่อุปกรณ์การแพทย์ที่เรียกว่า สายสวนหลอดเลือดเข้าไปในร่างกายผ่านหลอดเลือดแดง และให้ยารักษาก้อนเนื้อตับ เฉพาะตรงจุดที่เป็นโรคและมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อยมาก

ควรเตรียมตัวอย่างไร ? เมื่อต้องรักษาแบบ TOCE หรือ TACE

ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ามารับการเตรียมตัวที่โรงพยาบาล จะต้องมีการงดอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 4 ชั่วโมง จะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูความพร้อมของตับไต และการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ผู้ป่วยจะได้รับน้ำเกลือ และอาจได้รับเลือดในบางกรณี พยาบาลจะทำการโกนขนบริเวณขาหนีบตรงจุดที่จะมีการฉีดยาชา และใส่สายสวน และจะฉีดยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยก่อนการรักษา หากท่านเคยแพ้ยาหรือแพ้อาหารทะเล โปรดแจ้งกับแพทย์หรือพยาบาลทุกครั้ง การรักษาด้วยวิธีนี้ ส่วนมากจะมีอาการเจ็บปวดน้อยมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้วิธีดมยาสลบแต่อย่างใด ท่านอาจได้รับเพียงยาแก้ปวดหรือยานอนหลับก่อนเวลารักษาเท่านั้น

ขั้นตอนการรักษา

ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปยังห้องตรวจเอ็กซ์เรย์หลอดเลือด ซึ่งเป็นห้องที่สะอาดไร้เชื้อ ภายในห้องจะมีเครื่องเอ็กซ์เรย์หลอดเลือดที่มีลักษณะเป็นตัว Cขนาดใหญ่ เมื่อแพทย์ทำความสะอาดด้วยวิธีไร้เชื้อแล้ว แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ที่ขาหนีบด้านขวา จากนั้นจะทำการใส่สายสวนขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2 มม.) เข้าไปในหลอดเลือดแดง และจะใช้วิธีการเอ็กซ์เรย์หลอดเลือดช่วยในการนำทางสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงของตับ และเมื่อตรวจพบเส้นเลือดที่ผิดปกติ แพทย์จะฉีดยาที่มีส่วนผสมพิเศษ ซึ่งจะจับตัวอยู่เฉพาะที่ และสามารถทำให้ก้อนเนื้อย่อตัวลง จากนั้นทำการฉีดสารอุดกั้นหลอดเลือด เพื่อลดปริมาณเลือด (ซึ่งก็คือ สารอาหารและออกซิเจน) ที่จะไปเลี้ยงก้อนเนื้อ เมื่อให้ยาเสร็จแล้ว แพทย์จะดึงสายสวนออกจากร่างกาย และกดตรงบริเวณขาหนีบประมาณ 10 นาที ซึ่งแผลจากการตรวจจะมีขนาดเล็กมาก และไม่มีรอยเย็บแต่อย่างใด

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ :

ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้นอนอยู่บนเตียง และเหยียดขาด้านที่มีรอยใส่สายสวน เป็นเวลา 6 ชั่วโมง อาจได้รับอนุญาตให้รับประทานน้ำ และอาหารได้หากไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน การปัสสาวะ และอุจจาระ ยังคงต้องทำบนเตียงในระหว่าง 6 ชั่วโมงนั้น พยาบาลจะเปลี่ยนผ้าพันแผล บริเวณขาหนีบให้ในวันรุ่งขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการปวดแผลหรือปวดท้อง สามารถขอยาจากเจ้าหน้าที่พยาบาล ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ ซึ่งถ้ามีอาการมากสามารถขอยาแก้คลื่นไส้อาเจียนได้

ผลข้างเคียงจากการรักษา

ส่วนมากแล้วค่อนข้างปลอดภัย ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ อาการไข้หลังการรักษา 1 – 2 วัน ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 40 อาจมีอาการจุกแน่นบริเวณช่องท้องข้างบน ในบางรายอาจมีอาการปวดบวมบริเวณขาหนีบ บริเวณที่มีการใส่สายสวน ซึ่งมักจะหายได้เองในสัปดาห์แรก

ต้องทำบ่อยแค่ไหน...?

โดยเฉลี่ยจะทำการรักษา 2 หนห่างกัน 1 เดือน โดยก่อนการรักษาครั้งที่ 2 จะมีการตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินการตัดสินใจ และอาจมีการใช้วิธีการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้เข็มความร้อน RF

รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร
แพทย์รังสีร่วมรักษาด้านมะเร็งตับ
และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้