APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

"ลืม" เรื่องปกติของผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรชิน

"ลืม" เรื่องปกติของผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรชิน โดย นพ.พรพจน์ ประภาอนันตชัย แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม โรงพยาบาลแพทย์รังสิต

อาการหลงๆ ลืมๆ มักเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในคนสูงอายุ บางครั้งเราเห็นจนชินตาคิดว่าเป็นเรื่องปกติ พออายุมากก็เจอกันได้ทุกคน ยกตัวอย่างเช่นลืมว่าตอนเช้าทานอาหารอะไร จำไม่ได้ว่าวางสิ่งของไว้ตรงไหน หรือหาแว่นตาไม่เจอทั้งๆ ที่คาดไว้บนศีรษะ เดินหมุนรอบตัวเพราะจำไม่ได้ว่าจะหยิบอะไร เหตุการณ์ทำนองนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรง บางอย่างมีผลต่อการทำงาน หรือรบกวนชีวิตประจำวันมาก ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่จะมองข้ามได้อีกต่อไป

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าหลงๆ ลืมๆ ต้องเป็นอัลไซเมอร์เสมอไป ซึ่งไม่ถูกต้อง อัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยของกลุ่มโรคสมองเสื่อม (Dementia) สมองเสื่อม คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีความเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับความรอบรู้ พฤติกรรมและบุคลิกภาพ  ซึ่งไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด และรุนแรงจนกระทบกระเทือนกับการใช้ชีวิตประจำวัน มีอุบัติการณ์มากขึ้นตามอายุ ประมาณการว่าพบ 5% ในประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และพบ 20% ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป

สาเหตุอื่นของสมองเสื่อม

  • เส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ
  • การติดเชื้อในสมอง
  • ขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 , บี 12 หรือกรดโฟลิก
  • เนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า
  • การกระเทือนต่อสมองเป็นประจำ เช่น นักมวย การแปรปรวนของสารต่างๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • การอักเสบของเส้นเลือดในสมองเป็นเวลานาน
  • ยาหรือสารโลหะหนักที่เป็นพิษ
  • โพรงน้ำในสมองขยายใหญ่

แล้วเมื่อไรที่เราควรตระหนักว่าอาจจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ลองพิจารณาดูตามทีละข้อ ดังนี้

  • หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์ หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ จำเส้นทางไปที่ที่คุ้นเคยหรือกลับบ้านไม่ถูก
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • ลืม บอกชื่อสิ่งของไม่ถูก พูดแต่ชื่อซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก เพิกเฉยต่อสิ่งที่ชอบทำ
  • กดโทรศัพท์ไม่เป็น จำวิธีกดไม่ได้ ติดกระดุมเสื้อไม่ถูก ใช้ช้อนส้อมผิดข้างประจำ
  • อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ออกนอกบ้านเอง สีหน้านิ่งเฉย ไม่ค่อยมีรอยยิ้ม
  • ปล่อยปละละเลยตัวเอง ไม่สนใจดูแลความสะอาด  เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น

หากพบว่า ผู้สูงอายุในครอบครอบครัวมีปัญหาดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ควรพามาพบแพทย์อายุรกรรมระบบประสาท เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด และวางแผนการรักษาต่อไป


ทางเรามีเคล็ดลับอาหารสมองมาฝากไว้ด้วยครับ

  • ไข่มีโปรตีนที่ย่อยง่าย มีเลซิตินช่วยการทำงานของระบบประสาท
  • นมมีโปรตีนบางชนิดที่ทำให้สารซีโรโทนินและโดพามีนในสมองสูงขึ้น สมองจึงตื่นตัวและกระฉับกระเฉง
  • ปลาทะเลมีสังกะสีและไอโอดีนสูง ไขมันจากปลาทะเลโดยเฉพาะปลาทู ปลากะพง ปลาโอและปลาอินทรีมีกรดไขมัน DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีโอเมกา-3 เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสมอง
  • ข้าวซ้อมมือ มีโฟเลทสูงทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัว เลือดไปสมองมากขึ้น ยังพบโฟเลทมากในขนมปังโฮลวีท ข้าวาร์เลย์อีกด้วย
  • ถั่ววอลนัท เมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีแมกนีเซียมมาก ทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
  • ถั่วอัลมอนต์มีฟีนิลอะลานีน ที่กระตุ้นให้โดพามีนและนอร์อะดรีนาลินเพีม มีวิตามินบี 2 ทำให้ความจำดีขึ้น
  • สตอเบอรี่ บลูเบอรี่ อโวคาโดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์สมอง
  • มะเขีอ ผิวของมะเขือมีสาร nasuninช่วยในการสร้างสารสื่อประสาท
  • แน่นอนที่ว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ประเภททอด หนังไก่ หมู และอาหารรมควันต่างๆซึ่งมีอนุมูลอิสระจำนวนมาก อีกทั้งมีไขมันอิ่มตัวปริมาณสูง เป็นผลร้ายต่อหลอดเลือดสมอง
  • เน้นออกกำลังกายเป็นประจำ และรักษาโรคประจำตัวโดยเฉพาะความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วและไขมันในเลือดสูงควบคู่ไปด้วยเสมอ

บทความโดย
นพ.พรพจน์ ประภาอนันตชัย

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้