ลูกโตก่อนวัย ภัยเงียบที่แฝงอยู่

‘ลูกโดนล้อ เพราะโตเร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน’

โตก่อนวัย อาจไม่ได้ดีเสมอไป อาจส่งผลเสียต่อจิตใจ ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และร่างกายที่อาจหยุดสูงก่อนที่ควรจะเป็น

การเปลี่ยนแปลงจากเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากลูกเรามีแนวโน้มที่จะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย จากการมีฮอร์โมนเพศมากเกินไป  อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพใจ และสุขภาพร่างกาย  คุณพ่อคุณแม่ และคนใกล้ตัว จึงควรหมั่นสังเกต ใส่ใจดูแลรอบด้าน และให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลง วันนี้เราขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ “ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ”

ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย คืออะไร?

ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย หรือที่เรียกสั้นๆว่า ‘โตก่อนวัย’ คือ ภาวะที่เด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ โตเร็วกว่าปกติ ร่างกายดูโตเกินอายุ และมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างรวดเร็ว  โดยสามารถพบได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง ส่วนมากจะพบในเด็กหญิง มากกว่า 8-20 เท่า

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

  • ปัจจัยภายในร่างกาย
    • พันธุกรรม โดยที่พ่อ หรือ แม่มีประวัติเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย
    • พยาธิในสมอง เช่นการมีเนื้องอกในสมอง สมองขาดออกซิเจน การติดเชื้อในสมอง 
    • เด็กที่เคยได้รับการฉายรังสี ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศเร็วกว่าวัยอันควร
    • เด็กที่เคยได้รับอุบัติเหตุ ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนทางสมองส่วนไฮโพทาลามัส และบริเวณต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ
  • ปัจจัยภายนอก
    • การรับประทานวิตามินฮอร์โมนบางชนิดเพื่อเร่งโต หรือเร่งความสูง
    • จากสิ่งแวดล้อม เด็กที่รับประทานอาหารที่แคลอรีสูง
    • ได้รับฮอร์โมนเพศปะปนเข้าสู่ร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
    • ปัจจุบันในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป มีแคลอรีและไขมันสูง อาจพบภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยเกิดขึ้นในเด็กที่อ้วน มากกว่าเด็กที่มีร่างกายผอม

สัญญาณบ่งชี้ ที่สามารถสังเกตได้เอง

ธรรมชาติแล้ว ในเพศหญิง จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเพศชาย 1 ปีโดยวัยที่เหมาะสม ของเพศหญิงจะเข้าสู่วัยรุ่นอยู่ ที่อายุ 8-13 ปี และเพศชายอยู่ที่ 9-14 ปี

เด็กผู้หญิงที่มีอาการเหล่านี้ (ก่อนอายุ 8 ปี)เด็กผู้ชายที่มีอาการเหล่านี้ (ก่อนอายุ 9 ปี)
●มีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว
●เต้านมขยายใหญ่ขึ้น สามารถเช็กได้จากการคลำใต้บริเวณหัวนม
●สิวขึ้น หน้ามัน เริ่มมีกลิ่นตัว
●เอวคอดเล็กลง สะโพกผาย
●เริ่มมีประจำเดือน และตกขาว
●ขนขึ้นบริเวณที่ลับ รักแร้ และ อวัยวะเพศ
●ส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
●ขนาดของลูกอัณฑะ และอวัยวะเพศขยายตัว
●เสียงแตกหนุ่ม
●ขนขึ้นบริเวณที่ลับ รักแร้ และ อวัยวะเพศ
●สิวขึ้น หน้ามัน เริ่มมีกลิ่นตัว

ผลกระทบที่อาจเกิดจากภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

  • ความสูง ที่อาจหยุดสูงได้ก่อนที่ควรจะเป็น
  • จิตใจ อาจถูกเพื่อนวัยเดียวกันล้อเลียน จากความแตกต่างของร่างกาย ทำให้เด็กเกิดความกังวล
  • การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย และเริ่มมีอารมณ์ทางเพศก่อนวัยอันควร
  • ร่างกายที่เติบโตเร็วก่อนวัยอันควร ในเด็กผู้หญิงที่เป็นร่างกายเข้าสู่วัยสาว อาจมีปัญหาในการดูแลตัวเองเวลามีประจำเดือน และยังเสี่ยงต่อการถูกละเมิดทางเพศ

จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือไม่?

ถ้าพบว่าลูกของเรามีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจคัดกรอง โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยจะสามารถทำการวินิจฉัยจาก

1.ถ่ายภาพรังสีอายุกระดูก (Bon age)

การเอกซเรย์(X-ray) กระดูกมือ เพื่อตรวจประเมินอายุกระดูก โดยปกติจะมีรูปร่างและการเชื่อมติดที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ จึงสามารถประเมินอายุได้จากมือข้างที่ไม่ถนัด และนำมาเปรียบเทียบกระดูกเด็กมาตรฐาน ว่าล้ำหน้าเกินกว่าอายุจริงที่ควรจะเป็นหรือไม่

2.การตรวจอัลตราซาวด์บริเวณเชิงกราน (Pelvic Ultrasonography)

เด็กที่มีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย จะตรวจพบมดลูกที่มีขนาดยาวกว่า 34 มม. และมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวกว่า ด้วยการวินิจฉัยได้จากถุงน้ำ หรือเนื้องอกรังไข่ แลเนื้องอกต่อมหมวกไต

3.การตรวจระดับฮอร์โมนเพศในเลือด

การตรวจระดับฮอร์โมนเพศในเลือดนั้นสามารถทำการตรวจด้วยการทดสอบฮอร์โมน GnRH Stimulation Test หากตรวจพบว่ามีระดับฮอร์โมนเพศสูงกว่าเกณฑ์ อาจมีภาวะโตก่อนวัย ซึ่งหากประเมินแล้วว่ามีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย และยังอยู่ในระดับที่รักษาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้

  • ทานยาเพื่อยับยั้งฮอร์โมน โดยฉีดวัคซีนเข้าที่กล้ามเนื้อทุกๆ 1-3 เดือน จนถึงอายุ 11-12 ปี
  • มีการตรวจติดตามอายุกระดูกด้วยการเอกซเรย์ ทุกๆ 6-12 เดือน เพื่อช่วยชะลอการปิดของกระดูก

เมื่อได้รับการรักษาจากวิธีดังกล่าวแล้ว เด็กที่มีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยอันควรนั้นจะกลับมามีส่วนสูงที่เติบโตตามเกณฑ์แบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป  เด็กผู้หญิงที่ได้รับยาฮอร์โมนจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกหลังจากวันที่ได้รับยายับยั้งฮอร์โมนอีกครั้ง และมีขนาดเต้านมที่เล็กลง หลัง 1 ปีไปแล้ว

เบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม และทำการรักษาแก้ไข เพื่อยับยั้งการเข้าสู่ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย หายได้หรือไม่? มีวิธีรักษาอย่างไร?

สามารถรักษาให้หายได้ โดยวิธีรักษาคือให้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อยับยั้งการเข้าวัยรุ่น โดยยาที่ใช้ในปัจจุบันคือ GnRH agonist โดยแพทย์จะพิจารณารักษาในกรณีที่หากไม่ชะลอการเข้าวัยรุ่นอาจทำให้ผู้ป่วยสูงน้อยกว่าความสูงที่ควรจะเป็นตามกรรมพันธุ์ หรือผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้หากเข้าวัยรุ่น เช่น เด็กหญิงไม่สามารถดูแลตนเองได้ หากมีประจำเดือน โดยยาที่ให้เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 1-3 เดือน ขึ้นกับระยะของการเข้าวัยรุ่น และระหว่างการรักษา แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และมีการตรวจติดตามระดับฮอร์โมนเพศ และอายุกระดูกเป็นระยะ โดยเกณฑ์การพิจารณาหยุดการรักษา จะขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป

แนวทางป้องกัน

วีธีป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควรที่ผู้ปกครอง  พ่อแม่สามารถช่วยได้ คือการควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรีและไขมันสูง  และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ชวนทำกิจกรรม ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำเหมาะสมตามวัย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คอยดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

สิ่งที่แรกที่ควรทำ...เมื่อรู้ว่าลูกกำลังเป็น ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

อย่างแรก สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรทำคือ การบอกความจริง อธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างมีเหตุผล ก่อนไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้น และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าหากม่รักษาจะส่งผลเสียอย่างไร เมื่อพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองแล้ว แพทย์จะแนะนำแนวทางการรักษาต่อไป เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

พ.ญ.อัมพาพรรณ์ นรสุนทร
(กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม)

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้