สมองส่วนหน้า ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต
การทำงานของสมองส่วนหน้ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะสมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมีสมาธิจดจ่อ การคิดวางแผน การแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น การคาดการณ์ การคำนึงถึงผลที่ตามมา ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และช่วยให้สามารถควบคุมตนเองได้
หากขาดการยับยั้งชั่งใจ เราจะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระตุ้นตามสัญชาตญาณหรือตามอารมณ์ความรู้สึกซึ่งอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่หากเราหมั่นฝึกฝนที่จะรอคอย คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนลงมือทำ คำนึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการกระทำต่างๆ ที่เราแสดงออกไป เลือกว่าเราจะตอบสนองออกไปแบบใดโดยที่เราเองก็สามารถรับผิดชอบสิ่งที่เราเลือกนั้นได้ด้วย ก็จะเป็นการฝึกสมองส่วนหน้าให้ทำงานได้ดีขึ้น
วัยเด็กจะเป็นช่วงวัยที่พบปัญหาพฤติกรรมได้บ่อยเพราะสมองส่วนหน้ายังทำงานได้น้อย เนื่องจากสมองส่วนนี้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดปัญหาการควบคุมอารมณ์ การคิดแก้ปัญหาไม่เหมาะสม ขาดการรู้จักยับยั้งชั่งใจตนเอง เพราะโดยพัฒนาการปกติแล้ว ในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีความเครียดมากเกินไป สภาวะแวดล้อมที่ไม่วุ่นวายสับสน สมองส่วนหน้านั้นจะค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนพัฒนาเต็มที่เป็นลำดับหลังสุดเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามเด็กๆ ควรได้รับการฝึกฝนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเรื่องการช่วยเหลือตนเอง การทำตามกติกาข้อตกลงต่างๆ ได้เรียนรู้ผลที่ตามมาของพฤติกรรมตนเอง จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้าให้มีพัฒนาการได้มากขึ้น
แต่หากมีภาวะรบกวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการจัดการงานต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง เช่น ภาวะซึมเศร้าอาจส่งผลต่อการทำงานของสมองส่วนหน้าเกี่ยวกับด้านความจำ ความสนใจ และการควบคุมตนเอง หรือโรคอัลไซเมอร์ที่มีความเสื่อมถอยของสมองส่งผลให้เกิดปัญหาความจำ ไม่สามารถวางแผนจัดการชีวิตประจำวันต่างๆของตนเองได้ เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ก่อให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ขาดการจัดระเบียบหรือวางแผน ขาดสมาธิความสนใจ มีปัญหาความจำระยะสั้น ไม่สามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ไม่สามารถเรียนรู้จากผลที่ตามมาได้ มีความยากลำบากในการแก้ปัญหาหรือเรียนรู้สิ่งต่างๆ
ดังนั้นเมื่อเริ่มมีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์หรือกระบวนการคิดเกิดขึ้น จึงควรค้นหาสาเหตุต่างๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสมองส่วนหน้า และควรหลีกเลี่ยงการด่วนตัดสินที่ตัวตนของตนเองหรือผู้อื่นว่าเป็นปัญหานิสัยติดตัวหรือเป็นคนไม่ดี เพราะหากได้รับการช่วยเหลือ แก้ไขอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สมดุลปกติที่สามารถจัดการการดำเนินชีวิตตามปกติ ควบคุมวางแผนการงานต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามาในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน