สัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าของวัยรุ่น

สัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าของวัยรุ่น โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น


โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นพบได้บ่อย แต่มักไม่เป็นที่สังเกต อุบัติการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มเข้าวัยรุ่น และเมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น โดยมีความชุกประมาณ 4-5% ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังนำไปสู่ความบกพร่องทางสังคมและการศึกษา สัมพันธ์กับอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้สารเสพติดและโรคอ้วน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น คือ ประวัติครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ความเครียดทางจิตสังคม ฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น และภาวะซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่
จากการศึกษาติดตามระยะยาวพบว่าอาการซึมเศร้าของวัยรุ่นช่วงแรก มักแสดงอาการซึมเศร้าไม่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ามีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้ารุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจกับภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นแม้ว่าอาการจะยังไม่รุนแรง
สัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าของเด็กวัยรุ่น อาจแสดงออกมาเป็นอารมณ์เศร้า หรือ อารมณ์หงุดหงิด หรือไม่สนุกกับสิ่งต่างๆ เกือบทุกวัน นานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ อาการร่วมอื่นๆ เช่น

  • ใช้เวลากับเพื่อน หรือทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนน้อยลง
  •  ความอยากอาหารเปลี่ยนไป น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง
  •  นอนมาก หรือน้อยกว่าปกติ
  • รู้สึกเหนื่อย หรือมีแรงน้อยลง
  • รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นความผิดของตน หรือว่าไม่เก่งอะไรเลย
  • มีปัญหาในการจดจ่อมากขึ้น
  • ใส่ใจโรงเรียนน้อยลง
  • มีความคิดฆ่าตัวตาย หรืออยากตาย

กรณีซึมเศร้าในเด็กนอกจากอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจแสดงออกเป็นอาการทางร่างกายมากขึ้น เช่น ปวดหัวหรือปวดท้องบ่อยๆ ได้

วิธีการช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้า คือ การรับฟังเด็กอย่างตั้งใจ ให้เวลาเด็กได้อธิบายโดยไม่ตั้งคำถามเซ้าซี้ พูดคุยเรื่องความรู้สึกๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเด็กรู้สึกอย่างไรและมีอะไรรบกวนจิตใจหรือไม่? รอให้เด็กเล่าจบ จึงให้คำชมเชยสิ่งที่เด็กได้พยายามทำ หรือพยายามแก้ปัญหาที่ผ่านมา ถามความต้องการของเด็ก แล้วจึงเสนอคำแนะนำต่างๆ เป็นทางเลือกให้เด็กได้พิจารณาตัดสินใจ

วิธีการรักษาภาวะซึมเศร้า ได้แก่ การรักษาด้วยจิตบำบัด การให้คำแนะนำ การปรับความสัมพันธ์ในครอบครัว การปรับพฤติกรรม การปรึกษาปัญหากับทางโรงเรียน และการใช้ยาแก้ซึมเศร้า

หากผู้ปกครองสงสัยว่าบุตรหลานอาจมีภาวะซึมเศร้า ผู้ปกครองควรขอความช่วยเหลือจากกุมารแพทย์ ที่ปรึกษาของโรงเรียน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินปัญหาอย่างครอบคลุม วินิจฉัยภาวะซึมเศร้า และระบุวิธีการรักษาที่เหมาะสม

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้