หมอมะเร็งขอบอก : มะเร็งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่?

โดย รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร (แพทย์รังสีร่วมรักษาด้านมะเร็งตับ)

หากเราไม่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงนำไปสู่การเป็นมะเร็ง แล้วมะเร็งมาจากไหน? มะเร็งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่บุตรหลานได้หรือไม่? และอะไรคือปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เราเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว

ความเดิมตอนที่แล้วที่แล้ว เราได้พูดถึงเรื่องของ กรรมใหม่ หรือ พฤติกรรมที่จะช่วยทําให้เราลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ มีคําถามว่า แล้ว 'กรรมเก่า' คืออะไร?

กรรมเก่าในที่นี้ คือ ' ความเสี่ยงที่เราเลี่ยงไม่ได้ ' สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่กับตัวเราตั้งแต่แรก โดยอาจจะถ่ายทอดมาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นเด็ก มีคําถามว่า ยีนของมะเร็งสามารถส่งต่อมาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือว่าบรรพบุรุษของเราได้หรือไม่ ?

มะเร็งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หรือ ไม่?

มะเร็งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งจริงๆ มีอยู่ไม่ถึง 10% ที่เรียกว่าเป็นยีนมะเร็งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้จริงๆ ซึ่งจะพบได้ในมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งของรังไข่ มะเร็งของมดลูก ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือว่าจะเป็นมะเร็งของลําไส้ใหญ่ ซึ่งเจอได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง  มะเร็งกลุ่มนี้เป็นมะเร็งที่มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เยอะกว่ามะเร็งชนิดอื่น แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เราจะเป็นเพราะเป็นของเราเอง

4 ข้อสังเกตง่ายๆ ที่เรามีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ถ้าหากว่ามีคนในครอบครัวของเราหรือ คนใกล้ชิดญาติสายตรงของเราเป็นมะเร็ง

1.ป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย

โรคที่พบได้บ่อยอย่าง มะเร็งเต้านม หากว่าพี่สาว น้องสาว ของเรา หรือแม้กระทั่งคุณแม่ของเรามีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ตอนที่อายุยังน้อยๆ อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะมะเร็งเต้านมนะครับ เป็นมะเร็งทุกชนิด หากว่าเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 30 40 ปี จะเป็นคุณพ่อของเราก็ตาม เป็นมะเร็งตอนที่ท่านอายุน้อย นั่นก็หมายความว่า มะเร็งที่ท่านเป็น ก็มีโอกาสที่จะเกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม ที่จะถ่ายทอดถึงเราได้

2.ป่วยเป็นมะเร็งหลายชนิดในเวลาเดียวกัน

ข้อสังเกตหากว่าเรา หรือว่าคนในครอบครัว เป็นมะเร็งหลายชนิดในเวลาเดียวกัน เช่นว่าใน 2-3 ปี  มีมะเร็ง 2 ตัว ยกตัวอย่างเช่น เป็นทั้งมะเร็งปอด เป็นทั้งมะเร็งลําไส้ หรือบางคนเป็น 3 ชนิดเลย สิ่งนี้ก็สามารถยืนยันได้ว่ามะเร็งที่เขาเป็นนั้นอาจสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม และแน่นอน ญาติสายตรงของเขาก็มีโอกาสในความเสี่ยง เป็นมะเร็งที่คล้ายกัน

3.มะเร็งที่พบได้ไม่บ่อย

มะเร็งบางชนิดที่เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยได้เจอ เช่น มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หากว่ามีใครเป็นมะเร็งเต้านม หรือตัวเราเป็นผู้ชาย และเป็นมะเร็งเต้านม นั่นก็หมายความว่า เราก็มีโอกาส เป็นไปได้ที่จะรับการถ่ายทอด ผ่านทางพันธุกรรมมา

4.พิการแต่กําเนิด

หากเราหรือครอบครัวของเรามีความพิการแต่กําเนิด โอกาสที่จะเกิดมะเร็งร่วมกันกับภาวะพิการแต่กําเนิดเหล่านั้น ก็จะสูงขึ้น และเมื่อเกิดมะเร็งขึ้นแล้ว ก็หมายความว่า มะเร็งที่เกิดก็มีโอกาสที่จะมีการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม สูงกว่าคนทั่วๆ ไป

มะเร็งที่ไม่ได้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม

เป็นปัจจัยความเสี่ยงมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อาจเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตัวเรามาตั้งแต่เด็ก เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น การคลอด หากคุณแม่มีไวรัสตับอักเสบบี แล้วก็คลอดลูกออกมา ฉะนั้นลูกของคุณแม่ที่คลอดผ่านช่องคลอดจากคุณแม่ ก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อของไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ตอนที่คลอดออกมา แล้วเมื่อโตขึ้นหรือจะเป็นวัยรุ่น หรือช่วงที่โตขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะเกิดตับอักเสบ แล้วก็พัฒนาไปสู่เรื่องของภาวะตับแข็งได้

อีกสิ่งหนึ่ง ที่คล้ายๆ กันกับเรื่องของการอักเสบติดเชื้อ ก็คือไวรัสที่เรียกว่า HPV หรือ ไวรัสที่เกิดขึ้นในผู้หญิง ก็เป็นอีกหนึ่งไวรัสที่มีการถ่ายทอดผ่านทางผู้ชาย สามี แฟน หรือว่าคู่นอน ซึ่งนําเอาเชื้อ HPV จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง แต่บางครั้งก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วอาจเกิดขึ้นมานานแล้ว เราเองก็ไม่รู้ว่าเรามีเชื้อ HPV อยู่ในตัว สิ่งนี้ก็เป็นตัวอย่างอีกสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้ และเป็นความเสี่ยงที่มันติดตัวเราอยู่ สิ่งนี้เราไม่รวมถึงความเสี่ยง ที่เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง

สรุป กรรมเก่า ก็คือ 'สิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้' สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในตัวเรา ก็คือเรื่องของพันธุกรรม เซลล์มะเร็งที่ถ่ายทอดผ่านทางยีน ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ พ่อแม่ของเรา นอกจากนั้นยังมี ปัจจัยความเสี่ยงบางอย่างที่เกิดขึ้น โดยที่เราไม่รู้ตัวอาจจะเกิดมาตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องของไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี เรื่องของ HPV ต่าง ๆ


รับชมวิดีโอ

อ่านบทความเพิ่มเติม

รศ.นพ.คมกริช ฐานิสโร

แพทย์รังสีร่วมรักษาด้านมะเร็งตับ

และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้