เด็กพิเศษ....พัฒนาได้


สำหรับคนที่เป็นพ่อ-แม่ คงไม่มีอะไรที่สำคัญกว่าการที่ลูกมีความแข็งแรง สมบูรณ์ทั้ง ร่างกายและจิตใจ แต่สำหรับพ่อ-แม่บางคนอาจต้องรับมือกับการที่ลูก “เป็นเด็กพิเศษ วันนี้หมอมีข้อมูลดีๆ อย่าสมาธิสั้น และพัฒนาการเรียนรู้ มาแนะนำกันพ่อๆแม่ๆ กันนะครับ
 
สมาธิสั้น
คือ เด็กที่มีพฤติกรรม ซึ่งประกอบด้วย
-  ซน อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา เด็กจะมีอาการซน ยุกยิก นั่งนิ่งไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา ประสบอุบัติเหตุ บ่อย ๆ เล่นโลดโผน ไม่ใส่ใจการเรียน ให้ความสนใจกิจกรรมได้ไม่นาน ในวัยรุ่นจะแสดงท่าทางกระสับกระส่ายกระวนกระวายใจเวลาต้องนั่งอยู่นิ่งๆ
-  ขาดสมาธิ โดยจะไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการทำงานได้นาน ทำงาน ไม่สำเร็จ เบื่อง่าย ขาดความตั้งใจที่จะทำ ผลงานมักไม่เรียบร้อย ตกๆ หล่นๆ ไม่รับผิดชอบการทำงาน ขี้ลืมทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีปัญหาในการปฏิบัติตามคำสั่งที่ซับซ้อน ต้องบอกหลายครั้ง
-  ขาดการยับยั้งใจตัวเอง มักจะทำตามใจตนเอง หุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิดทำไปด้วยอารมณ์ ประมาท ทำงานบกพร่องผิดพลาด ก้าวร้าว เกเร มีพฤติกรรมเสี่ยง อันตรายต่อตนเองและผู้อื่น


หลักการสังเกตเด็กที่สงสัยว่า “โรคสมาธิสั้น”
1.  ไม่ตั้งใจเรียน วอกแวก เหม่อลอย ลืมคำสั่ง
2.  จดงานไม่ทัน โอ้เอ้ ลืมทำการบ้าน ลืมส่งการบ้าน
3.  ซน ไม่นิ่ง โลดโผน เกิดอุบัติเหตุบ่อย
4.  พูดมาก พูดสอดแทรก ไม่รอ แซงคิว
5.  ผลการเรียนไม่สม่ำเสมอ แต่วิชาที่ชอบจะทำได้ดี
6.  ถ้ามีคนดูแลจะตั้งใจเรียนได้มากขึ้น

เด็กแอลดี
หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งได้ความบกพร่องได้ดังนี้  

  • ความบกพร่องทางด้านการอ่าน เด็กมีความบกพร่องทางการจดจำพยัญชนะ สระ ขาดทักษะในการสะกดคำและเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้อย่างจำกัด จึงอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านศัพท์ง่ายๆ แต่มักอ่านผิด อ่านตะกุกตะกัก
  • ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ เด็กมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ ตัวสะกด วรรณยุกต์ และการันต์ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย จึงมักเขียนหนังสือและสะกดผิด มีปัญหาเรื่องการใช้คำศัพท์การแต่งประโยค และการสรุปเนื้อหาสำคัญ ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดความคิด ผ่านการเขียนได้ตามระดับชั้นเรียน แต่สามารถลอกตัวหนังสือตามแบบได้
  • ความบกพร่องทางคณิตศาสตร์ เด็กขาดทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลข การนับจำนวน จำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ จึงไม่สามารถคิดหาคำตอบจากการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฏเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้

หลักการสังเกตเด็กที่สงสัยว่าเป็น แอลดี

            วัยอนุบาล มีข้อสังเกตได้ดังนี้

  • เด็กมีประวัติเริ่มพูดช้า เช่น พูดคำแรก เมื่ออายุ 1 ขวบครึ่ง หรือ 2 ขวบ
  • เด็กมีประวัติพูดไม่ชัด หรือยังมีการออกเสียงไม่ขัดในบางพยัญชนะ
  • มีการพูดสลับคำ เรียงประโยคไม่ถูก เช่น “หนูอยากขนมกิน" , "ขนมหนูกิน”
  • พูดตะกุกตะกัก หรือบอกชื่อวัตถุที่ต้องการไม่ได้ ได้แต่ชี้สิ่งของนั้น
  • มีปัญหาการสื่อสาร เช่น พูดแล้วคนอื่นฟังไม่เข้าใจ หรือฟังคนอื่นไม่เข้าใจ
  • มีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมีลักษณะงุ่มง่าม เชื่องช้า เช่น การหยิบสิ่งของ การผูกเชือกรองเท้า ติดกระดุมเสื้อ จับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือแล้วเมื่อยเร็ว
  • มีปัญหาการใช้สายตาร่วมกับมือ เช่น การกะระยะห่างระหว่างสิ่งของ การแยกวัตถุเล็กๆ การแยกภาพออกจากพื้นหลัง

วัยประถมศึกษามีข้อสังเกตดังนี้

  • ดูฉลาดหรือปกติดี แต่มีปัญหาการเรียน
  • อ่านผิด ไม่คล่อง อ่านข้าม อ่านตกหล่น อ่านเกิน
  • ผสมคำ ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่เป็น จับใจความไมได้
  • เขียนผิด เขียนไม่คล่อง ผิดบ่อย
  • คิดเลขผิด/ไม่คล่อง ความคิดรวบยอด (บวก ลบ คูณ หารไม่เป็น/ไม่ถูกวิธี)
  • คะแนนไม่ดีอาจเป็นเฉพาะบางวิชา
  • ไม่ค่อยมองหน้า สบตาน้อย เล่นคนเดียว ไม่เล่นกับเพื่อน
  • เล่นไม่ค่อยเป็น เล่นแปลกๆ ซ้ำๆ
  • มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร  พูดไม่เป็นภาษา แสดงอารมณ์น้อยหรือไม่เหมาะสม
  • อาจมีความจำดี เรียนรู้บางด้านเร็วมาก
  • ความร่วมมือในการเรียนไม่แน่นอน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำหรับคุณพ่อและคุณแม่ ที่เอาไว้สังเกตลูกๆของเรา ว่าอยู่ในอาการที่จะเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ และสำหรับท่านใดที่มีความกังวล อย่ากลัวหรืออายที่จะเข้ารับคำปรึกษาจากหมอ เพราะยิ่งทราบเร็วก็ทำให้เข้ารับการดูแลได้เร็ว เพื่อพัฒนาการที่สมวัยของลูกน้อย โดยอยากให้เข้าใจว่า “เด็กทุกๆ คน มีโอกาสได้รับการพัฒนา และเด็กทุกคนมีจุดแข็งของตนเอง การแก้ไขปัญหา และการเข้ารับการดูแลรักษา การพบแพทย์นั้นเป็นเพียงการลดจุดอ่อนของลูก และเป็นการทำให้ลูกได้รับรู้ถึงปัญหาของตนเองแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการดีกว่าปล่อยให้ลูกหงุดหงิดกับตัวเอง และรู้สึกแย่กับตนเองลงไปเรื่อยๆ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้