เลือดออกทางช่องคลอดแบบไหน ควรรีบมาพบแพทย์

เลือดออกทางช่องคลอดแบบไหน ควรรีบมาพบแพทย์

การที่จะรู้ว่าเลือดออกผิดปกติหรือเปล่า ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักว่า ประจำเดือนที่ปกติและผิดปกติมีความแตกต่างกันอย่างไร

ประจำเดือนที่ "ปกติ" เป็นอย่างไร?

ประจำเดือนที่ "ปกติ" อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะ

ระยะเวลาระหว่างรอบเดือน: รอบเดือนปกติจะอยู่ระหว่าง 21-35 วัน รอบไม่ควรห่างกว่า 35 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 28 วัน

ระยะเวลาที่มีเลือดออก: โดยปกติจะอยู่ระหว่าง 3-5 วัน ไม่ควรเกิน 7 วัน

ปริมาณเลือด: ปริมาณเลือดที่ออกจะอยู่ระหว่าง 20-80 มิลลิลิตร(ซีซี) ต่อรอบเดือน บางคนอาจมีเลือดออกมากหรือน้อย แต่ไม่ควรรู้สึกว่ามากเกินไปหรือรบกวนชีวิตประจำวัน

ลักษณะของเลือด: เลือดอาจมีสีแดงสดไปจนถึงแดงเข้มหรือสีคล้ำได้ และอาจมีลิ่มเลือดเล็ก ๆ ออกมาบ้าง

อาการที่เกี่ยวข้อง: อาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อยก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าปวดมากจนต้องหยุดกิจวัตรประจำวันอาจไม่ถือว่าปกติ

ความสม่ำเสมอ: ประจำเดือนควรมาอย่างสม่ำเสมอ แต่หากมีความแปรปรวนบ้างในบางเดือน เช่น เลื่อนมาหรือเลื่อนไปเล็กน้อย ก็ยังถือว่าปกติ

ประจำเดือนที่ "ผิดปกติ" เป็นอย่างไร?

ประจำเดือนที่ "ผิดปกติ" มีหลายลักษณะที่สามารถบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ โดยปกติแล้วความผิดปกติของประจำเดือนอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ความเครียด หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติอาจเป็นดังนี้

  1. รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ :
    • จํานวนรอบที่แปรผันไปมากกว่า 1 สัปดาห์
    • ประจำเดือนขาดหายไป : ไม่มีประจำเดือนมาเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 3 เดือน) โดยไม่ได้ตั้งครรภ์
    • ประจำเดือนมาไม่เป็นรอบ : มีรอบเดือนที่ห่างกันมากกว่า 35 วัน
    • มีประจำเดือนมาบ่อยเกินไป : รอบเดือนสั้นเกินไป (น้อยกว่า 21 วัน)
  2. ปริมาณเลือดผิดปกติ :
    • ประจำเดือนมามากเกินไป : เลือดออกมากเกินไปจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยหรือถ้วยอนามัยบ่อยครั้งเกินไป หรือมีการออกเป็นลิ่มเลือดใหญ่ ๆ
    • ประจำเดือนมาน้อยเกินไป : มีเลือดออกน้อยมากหรือแค่ติดเปื้อน
  3. ระยะเวลาการมีเลือดผิดปกติ :
    • ประจำเดือนมานานเกินไป: เลือดออกนานกว่า 7 วัน
    • ประจำเดือนมาสั้นเกินไป: เลือดออกน้อยกว่า 2 วัน
  4. เลือดออกผิดเวลา (Intermenstrual bleeding):
    • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน หรือในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน เช่น เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์หรือระหว่างไข่ตก
  5. อาการปวดที่ผิดปกติ :
    • ปวดท้องมากเกินไปในช่วงมีประจำเดือน โดยเฉพาะถ้าเป็นอาการที่รุนแรงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น ต้องหยุดทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้
  6. การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติอื่น ๆ :
    • ประจำเดือนที่มาพร้อมอาการอื่นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ปวดหัวรุนแรง เวียนหัว คลื่นไส้ หรือมีอาการอ่อนเพลียมาก

ผู้หญิงทุกท่านควรหมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง หากพบว่ามีอาการประจำเดือนมาผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์โดยเพื่อตรวจและทำารวินิฉัยต่อไป ซึ่งกลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์เรื่องของประจําเดือนผิดปกติ มักจะพบว่าเป็นเรื่องของ

  • ภาวะไข่ตกผิดปกติ
  • ภาวะไข่ไม่ตกตามกําหนด ที่ทําให้มีประจําเดือนมากกว่าปกติได้

ช่วงวัยทํางาน ช่วงอายุ 20-25 ปี จะพบว่ามีเรื่องของเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ต่างๆ

ผู้หญิงวัยใกล้หมดประจําเดือน ปกติแล้วประจําเดือนจะมาน้อยลงเรื่อยๆ และห่างขึ้นเรื่อยๆ กรณีที่ไม่เป็นไปตามนี้ ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์โดยด่วน เพราะว่ามีเรื่องของมะเร็งต่างๆที่พบบ่อยในวัยนี้ อาทิเช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก

"การตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยให้เรารู้ทันโรค และสามารถพบโรคได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และทันท่วงที เพื่อไม่ให้โรคที่เกิดขึ้นเข้าสู่ระยะรุนแรงและยากต่อการรักษาค่ะ"

พญ.สิริวรรณ ศรีสุวรรณ

แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช และมะเร็งนรีเวช

_______________________________________________________________________________________________________________

รับชมวิดีโอ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้