"โนโรไวรัส" ตัวร้ายก่อ โรคระบาดท้องเสีย

โนโรไวรัส ตัวร้ายก่อโรคระบาด"ท้องเสีย"

Norovirus หรือชื่อเดิมว่า Norwalk virus เป็นสาเหตุของการระบาดของการติดเชื้ออุจาระร่วงจากเชื้อไวรัส พบว่าเป็นสาเหตุของท้องเสียที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยที่สุดในโลก สามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามีการ ปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนี้ในอาหารและน้ำดื่ม ก็จะมีจำนวนคนป่วยที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในระยะเวลาอันสั้น

ไวรัสนี้มีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมง มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ที่ใช้อยู่ รวมทั้งแอลกอฮอล์ ไม่สามารถที่จะฆ่าเชื้อได้ ในทางปฏิบัติ สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้จะอยู่ในจำพวก ฟอร์มาลิน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ คลอรอกซ์ และ ไฮเตอร์ อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวมี กลิ่นเหม็นมากจึงใช้ยาก นอกจากใช้ล้างห้องน้ำ ในทางปฏิบัติจริงๆจะใช้หลักการทำความสะอาด ด้วยวิธีใช้น้ำ และสบู่ล้างมือ ทำความสะอาดให้มากที่สุด โดยใช้น้ำชะล้าง เพื่อทำให้ไวรัสเจือจางไปให้มากที่สุด และทำความสะอาด เครื่องใช้ด้วยหลักการเดียวกัน

อาการที่พบได้

คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ  ปวดท้อง  ปวดศีรษะ  มีไข้  ปวดเมื่อยตามตัว สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและ ถ่ายเป็นน้ำมาก จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำเช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็วและมีความดันโลหิตต่ำ

การวินิจฉัย

ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

  • ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน
  • ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่มีอาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อน และให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ
  • ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจาก การขาดน้ำ ทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆอยู่แล้ว  จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาเร็ว เอาใจใส่เป็นพิเศษมากกว่าช่วงวัยอื่น

การป้องกัน

เชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อกันได้ โดยผ่านอาหารและน้ำที่แปดเปื้อนเข้าทางปาก การดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหา การติดเชื้อนี้ได้

  • ผู้ป่วยเด็กควรพักผ่อน ดูแลรักษาตัวที่บ้าน งดไปโรงเรียนขณะที่มีอาการ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อในวงกว้าง และแยกของใช้ ลดการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 15-20 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร (อาจใช้เจลล้างมือได้แต่แนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่จะดีที่สุด) โดยเฉพาะเมื่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน
  • ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน

บทความโดย
พญ.วรรณวรา อังศุมาศ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้