โรคกระดูกพรุน ภัยร้ายต่อผู้สูงอายุ
ช่วงนี้ใกล้ช่วงเทศกาลวันแม่ ซึ่งลูกๆ ทุกคนก็คงอยากดูแลคุณแม่ของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และแน่นอนว่าพออายุมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น และอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือ โรคกระดูกพรุน โดยวันนี้หมอมีข้อมูลดีๆ มาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกัน เพื่อนำไปใช้ดูแลคุณพ่อ-คุณแม่ของตัวเอง
ถาม : อะไรคือโรคกระดูกพรุน?
ตอบ: โรคกระดูกพรุนคือโรคของกระดูกที่มีความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกนั้นเสี่ยงต่อการหักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกต้นแขนส่วนที่ติดกับไหล่ และกระดูกปลายแขนส่วนที่ติดกับข้อมือ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้เป็น
โรคกระดูกพรุนปฐมภูมิ (Primary osteoporosis) เกิดจากร่างกายซ่อมสร้างกระดูกได้น้อยลงตามอายุขัย โดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนซึ่งสมดุลฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ง่ายเป็นพิเศษ จึงเรียกว่าโรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal osteoporosis)
โรคกระดูกพรุนทุติยภูมิ (Secondary osteoporosis) คือภาวะที่ความผิดปกติอื่นใดทำให้มีการสร้างกระดูกลดลง ไม่ว่าจะเป็นโรคต่างๆ (เช่นโรคของต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ รูมาตอยด์ เบาหวานแต่กำเนิด ฮอร์โมนเพศผิดปกติ โรคไต โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ) การขาดสารอาหาร(เช่นขาดการบริโภคแคลเซียมและวิตามินดี โรคระบบการดูดซึมอาหารผิดปกติ โรคทางจิตเวชที่ทำให้การบริโภคลดลง) การใช้ยา(เช่นสเตียรอยด์ ยาต้านการซึมเศร้าและยาต้านการชักบางชนิด) หรือการใช้สารเสพติด (บุหรี่ สุรา)
ถาม : เราจะตรวจได้ไหมว่าเรามีภาวะโรคกระดูกพรุน
ตอบ: ตรวจได้โดยวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกของเรา (Bone Mass Density, BMD) โดยใช้เครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกส่วนกลางของร่างกาย(Axial DXA) เทียบกับความหนาแน่นของมวลกระดูกของประชากรวัยหนุ่มสาว
ถ้าค่าที่ได้อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD) คือมีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) แต่ยังไม่เป็นโรคกระดูกพรุน
ถ้าค่าที่ได้ต่ำกว่า – 2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) คือมีภาวะโรคกระดูกพรุน(Osteoporosis)
หากไม่มีโอกาสตรวจโดยใช้เครื่องตรวจมวลกระดูก สามารถประมาณความเสี่ยงของการกระดูกหักได้โดยใช้ FRAX score (สำหรับประชากรไทย)ซึ่งสามารถคำนวณได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ตาม QR code ในบทความนี้โดยหากคำนวณแล้วพบว่ามีความเสี่ยงปานกลางควรตรวจด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นมวลกระดูก ส่วนหากคำนวณแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงควรเริ่มรักษาโรคกระดูกพรุน
ถาม : ใครบ้างที่มีควรรับการคัดกรองโรคกระดูกพรุน?
ตอบ: บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ควรตรวจความหนาแน่นกระดูกด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูก (DXA) เพื่อคัดกรองว่ามีภาวะโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ได้แก่
ผู้หญิงทุกคนเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายทุกคนเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
ผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี รวมถึงผู้ที่ตัดรังไข่ 2 ข้างไปแล้ว
ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ (ได้รับยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์เทียบเท่ากับเพรดนิโซโลนตั้งแต่7.5 มิลลิกรัมขึ้นไปต่อเนื่องกันอย่างน้อย3 เดือนขึ้นไป)
ผู้หญิงที่มีภาวะเอสโตรเจนต่ำก่อนหมดประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปีขึ้นไป เช่นเจ็บป่วยเรื้อรัง ออกกำลังกายหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง หรือได้รับ GnRH ยกเว้นเอสโตรเจนต่ำจากการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
มีประวัติบิดาหรือมารดากระดูกสะโพกหัก
ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนและมีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 20
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ส่วนสูงลดลง 4 เซนติเมตรขึ้นไป
ผู้ที่ได้รับการรักษาที่เกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ เช่น ผู้หญิงที่รับยาต้านการสร้างเอสโตรเจนการรักษามะเร็งเต้านม หรือผู้ชายที่รับยาลดฮอร์โมนแอนโดรเจนในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
ภาพถ่ายรังสีเอกซ์เรย์พบว่ามีกระดูกบาง หรือกระดูกสันหลังยุบ
มีประวัติกระดูกหักจากภยันตรายไม่รุนแรง (เช่นเดินแล้วหกล้มบนพื้นราบ)
ประเมิน FRAX score แล้วพบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง คือโอกาสที่จะมีกระดูกสะโพกหักในระยะเวลา 10 ปี (10-year probability risk of hip fracture) ตั้งแต่ร้อยละ 1.5ขึ้นไปหรือโอกาสที่กระดูกชิ้นหลักหักจากภาวะกระดูกพรุนในระยะเวลา 10 ปี (10-year probability risk of major osteoporotic fracture) ตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป
ประเมินความเสี่ยงด้วยคะแนนแบบอื่นๆ (เช่น OSTAKKOS หรือ Nomogram)พบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง
สูบบุหรี่หรือดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ
มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนทุติยภูมิเช่นโรคของต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ รูมาตอยด์ เบาหวานแต่กำเนิดเป็นต้น
ถาม : ควรจะปฏิบัติตัวเช่นไรในการป้องกันโรคกระดูกพรุนและภาวะที่เกี่ยวข้อง?
ตอบ: ควรจะปฏิบัติตนตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนักและมีการใช้แรงต้านเพื่อเพิ่มมวลกระดูก เสริมสร้างกำลังกล้ามเนื้อส่วนล่าง และพัฒนาการทรงตัว เช่น วิ่งเหยาะ เดินสลับวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินขึ้นบันได ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล กระโดดเชือก เป็นต้น ในกรณีผู้สูงอายุหรือมีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) ไม่ควรวิ่ง หรือเล่นกีฬาหนักๆ แต่ควรออกกำลังกายที่เบาลง ได้แก่ เดินเร็วๆ เดินขึ้นบันได รำมวยจีน รำจี้กง รำไท้ฉีควรออกกำลังกายครั้งละ40 นาทีขึ้นไปสัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย หรือออกกำลังกายครั้งละ 30 นาทีทุกวัน
รับประทานอาหารให้ได้แคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี และ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป โดยอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงเช่นนม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งแห้งตัวเล็ก ผักใบเขียว ถั่ว งา เต้าหู้
เพิ่มวิตามินดีซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียม ช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและป้องกันการหกล้ม โดยรับแสงแดดอย่างพอเพียง เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี (รับแสงแดดประมาณ 30 นาทีต่อวัน โดยเวลาที่เหมาะสม คือ 8.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 17.00 น.)รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีเช่นนม ปลาที่มีน้ำมัน
หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีได้มากพอก็รับประทานยาเม็ดหรือผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมและวิตามินดี
หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัดและโปรตีนสูงเพราะเพิ่มการขับแคลเซียมจากไต รับประทานโปรตีนแต่พอดี
งดดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลมงดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา
จัดสภาพแวดล้อมในบ้านและสถานที่ที่ไปเยือนบ่อยเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม เช่นปูพื้นด้วยวัสดุกันลื่น ไม่วางของเกะกะบนพื้น มีไฟส่องสว่างเพียงพอเปิดไฟไว้ในทางเดินกับห้องน้ำตอนกลางคืน มีราวจับในห้องน้ำและบันได การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินเช่นโครงเหล็กช่วยเดิน 4 ขา การปรับพฤติกรรมการลุกยืนและเดินให้ช้าลงและมั่นคงขึ้น เป็นต้น
การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 60 ปีในบางกรณีตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อใดที่ต้องรับการรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่อง ?
ตอบ : แพทย์อาจพิจารณารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่องโดยการใช้ยาและวิธีการอื่นๆ เมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้
เมื่อมีกระดูกสันหลังหรือสะโพกหักจากภยันตรายไม่รุนแรง
ค่าความหนาแน่นกระดูก(BMD) ต่ำกว่า – 2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกส่วนกลางของร่างกาย (Axial DXA)
ผลจากการคำนวณความเสี่ยงด้วย FRAX score พบว่ามีโอกาสที่จะมีกระดูกสะโพกหักในระยะเวลา 10 ปี (10-year probability risk of hip fracture) ตั้งแต่ร้อยละ 3 ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าควรเริ่มต้นการรักษาเมื่อไรและใช้วิธีใดการรักษานั้นขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ซึ่งต้องปรับให้เข้ากับสภาพของผู้ป่วยแต่ละคนตามความเหมาะสม
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ในการดูแลและป้องกันทั้งตัวเองหรือคนที่คุณรัก ให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุน และถ้าท่านใดต้องการเข้ารับการตรวจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากหมอได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ (บรรณาธิการ) 2558 .การดูแลรักษาภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนแบบองค์รวม
T. Songpatanasilp et al. Thai Osteoporosis Foundation (TOPF) position statements on management of osteoporosis . Osteoporos Sarcopenia. 2016 Dec;2(4):191-207
บทความโดย นพ.สลักธรรม โตจิราการ