โรคงูสวัด... ภัยเงียบของสูงวัย 50+ 

" ยิ่งสูงอายุ ยิ่งเสี่ยงสูง "

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีโอกาสที่จะมีผู้ป่วยโรคงูสวัดเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น

โรคงูสวัดคืออะไร

งูสวัด (Herpes zoster / Shingles) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า วาริเซลลา (Varicella zoster virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังซ่อนตัวอยู่บริเวณปมประสาทของร่างกาย โดยไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อเราอายุมากขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ภูมิต้านทานเราจะลดลงตามวัย และเมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่จะถูกกระตุ้น และจะแบ่งตัวทำให้เส้นประสาทอักเสบ และมีอาการของโรคงูสวัดได้

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคงูสวัด

  • ผู้สูงอายุ อายุ 50 ปี ขึ้นไป
  • เคยเป็นโรคไข้สุกใสมาก่อน
  • มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ป่วยติดเตียง
  • ผู้ป่วย HIV
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี(SLE) โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • มีความเครียดทางอารมณ์

โรคงูสวัดเป็นโรคทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย การดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงและการฉีดวัคซีนป้องกัน จะช่วยลดการเกิดโรคงูสวัดได้

สาเหตุการที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด

โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคไข้สุกใส(อีสุกอีใส) หรือเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Valricella zoster virus : VZV)   โดยหลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคไข้สุกใสแล้ว เชื้อรัสชนิดนี้จะยังคงซ่อนอยู่ภายในร่างกายไปได้เป็นระยะเวลาหลายปี โดยที่ไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากเมื่อใดร่างกายนั้นอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันลดลงกว่าปกติ เชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่จะแบ่งตัว ทำให้เส้นประสาทอักเสบ และเกิดอาการของโรคงูสวัดได้ทันที

วิธีแพร่กระจายของเชื้อที่เป็นสาเหตุทำเกิดโรคงูสวัด

  • สามารถติดเชื้อได้ผ่านทางการหายใจ
  • สัมผัสกับตุ่มน้ำใสโดยตรง

โรคงูสวัดเป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อกระจายได้ง่าย ดังนั้นควรแยกผู้ป่วยโรคงูสวัดออกจากผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้หญิงมีครรภ์

ความแตกต่างระหว่างโรคงูสวัดกับโรคไข้สุกใส

โรคไข้สุกใส - ผื่นมีการกระจายทั่วร่างกาย

โรคงูสวัด – ผื่นมีลักษณะพาดเป็นแนวยาว ขึ้นเฉพาะตามแนวเส้นประสาทที่ไวรัส VZV ซ่อนอยู่ โดยเริ่มจากเกิดผื่นแดง แล้วจึงเกิดเป็นตุ่มนูนใส บวม แตก และตกสะเก็ด

อาการของโรคงูสวัด

  • เริ่มจากเกิดผื่นสีแดง จะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว โดยผื่นมักเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาท
  • ผื่นมักเกิดขึ้นได้ บริเวณรอบเอว หรือแนวชายโครง บริเวณหลัง บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า และดวงตา
  • มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนัง ประมาณ 1-3 วัน ก่อนที่จะมีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณที่ปวด
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนัง แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า
  • ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน
  • หลังผื่นหายยังอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นขึ้น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม
  • อาการของโรคงูสวัดอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย ตาสู้แสงไม่ได้

อาการปวดของโรคงูสวัด

เมื่อเกิดโรคงูสวัด เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายตามเส้นประสาทรับความรู้สึก จึงทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วยเสมอ อาจจะเกิดชั่วคราวหรือจะเกิดรุนแรงจนเป็นถาวร โดยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด หลังจากผื่นงูสวัดหายแล้วยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดแบบเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง

อาการของโรคงูสวัดจะรุนแรงกว่าโรคไข้สุกใส และหากไม่รีบรักษา อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนได้  

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า แต่มักพบได้น้อย โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ป่วยโรคงูสวัด ได้แก่

  • การติดเชื้อที่ผิวหนังและอวัยวะภายใน

ผู้ป่วยอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังหากตุ่มน้ำบนผิวหนังแตกและไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ และอาจเสี่ยงต่อการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ จากการที่เส้นประสาทในอวัยวะติดเชื้อไวรัส โดยอาการอักเสบที่อันตรายอันเกิดจากภาวะแทรกซ้อนงูสวัด เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไข้สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่อาจเกิดได้น้อยมาก

  • อาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด (Postherpetic Neuralgia)

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุ 50 ขึ้นไป ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบเหมือนโดนเข็มตำบริเวณที่เคยเป็นงูสวัด ผิวหนังมักไวต่อการสัมผัส ทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดได้ง่าย และอาการอาจกำเริบเมื่ออากาศเกิดเปลี่ยนแปลง อาการนี้มักจะหายในระยะเวลา 3–6 เดือน แต่บางรายก็อาจกินเวลาหลายปีหรือเป็นต่อเนื่องไปตลอดได้

  • ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา

หากเชื้องูสวัดกระจายไปที่บริเวณดวงตาก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอาการปวดตาจากแผลในกระจกตา การติดเชื้อที่เส้นประสาทตา บางรายอาจมีปัญหาต้อหิน ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้

  • โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome)

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเส้นประสาทสมอง ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหู การได้ยินลดลง เวียนหัว บ้านหมุน ได้ยินเสียงหึ่ง ๆ เกิดตุ่มน้ำภายในหู เสียการรับรู้รสชาติอาหาร ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเบี้ยว ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ

  • อันตรายต่อทารกในครรภ์

ผู้หญิงที่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ เชื้ออาจแพร่ไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ เช่น มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ศีรษะเล็ก และมีปัญหาทางสมองได้

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคงูสวัด : โรคงูสวัดพันรอบตัวแล้วตาย

ผู้ป่วยบางราย ผื่นของโรคงูสวัดอาจเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้งสองด้าน ซ้ายและขวาจนดูเหมือนว่างูสวัดพันรอบตัว  แต่ในความจริงแล้ว ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดแล้วเสียชีวิต อาจเกิดจากภูมิคุ้มกันต่ำร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องด้วยโรคงูสวัด  การติดเชื้อโรคงูสวัดจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเสียชีวิตไปในที่สุด

การรักษาโรคงูสวัด

  • รักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการปวดแพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวด ถ้าตุ่มติดเชื้อจนกลายเป็นหนองแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
  • ให้ยาต้านไวรัส หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์ให้รับประทานยาต้านไวรัส เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
  • ให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ เป็นต้น

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคงูสวัด

  • หลีกเลี่ยงใช้ยาสมุนไพร ยาพ่น หรือยาอื่นๆ ที่แพทย์ไม่ได้สั่งทาบริเวณผื่นคัน เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้น
  • หมั่นรักษาความสะอาด ล้างมืออยู่เสมอ
  • ไม่ควรเกา สัมผัส บริเวณผื่นคัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ
  • ตัดเล็บมือ เท้า ให้สะอาด เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

วิธีการป้องกันโรคงูสวัด

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น
  2. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
  6. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

โรคงูสวัด สามารถรักษาได้ แต่ไม่หายขาด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย ผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต่ำ  หากเริ่มมีอาการผื่นคัน ตุ่มน้ำใส เจ็บแสบบริเวณแผล หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำเกิดภาวะแทรกซ้อน   ผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่อย่างเหมาะสมและถูกต้อง นอกจากการป้องกันโรคด้วยตัวเอง มีร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่เป็นโรคงูสวัดได้ แพทย์จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง

พญ.รุ่งระวี รัตน์รวีวงศ์

แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้