APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
APPOINTMENT
นัดหมายแพทย์
สายด่วน
02-998-9999

โรคพาร์กินสัน โรคแห่งความเสื่อมของสมอง

โรคพาร์กินสัน โรคแห่งความเสื่อมของสมอง
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์สมองในส่วนที่สร้างสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเริ่มทำงานเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถผลิตสารนี้ได้อีกต่อไป จึงมีผลให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โรคนี้จะพบมากในช่วงอายุ 65-80 ปีขึ้นไป โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า การตำเนินโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ตามระยะเวลาที่มากขึ้น

สาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสัน

  1. ความชราภาพของสมอง มีผลทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน (เกิดจากกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีสีดำที่อยู่บริเวณสมองส่วนกลาง โดยทำหน้าที่สำคัญในการสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหว) มีจำนวนลดลง โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะแน่นอน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด
  2. ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดปามีน แต่ในปัจจุบันมียาตัวใหม่ๆที่ออกมา มีผลข้างเคียงน้อยลงมากยาลดความดันโลหิตกลุ่ม calcium channel blocker, ยาแก้เวียนศีรษะ
  3. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างโดปามีนมีจำนวนน้อย หรือหมดไป
  4. สารพิษทำลายสมอง ได้แก่ สารตะกั่ว แมงกานีส คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น
  5. สมองขาดออกซิเจน ในกรณีที่จมน้ำ ถูกบีบคอ เกิดการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น
  6. ศีรษะถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บต่อศีรษะและสมองในนักมวย
  7. การอักเสบของสมอง
  8. โรคทางพันธุกรรม เช่น Wilson disease ซึ่งเกิดจากการที่มีอาการของโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง สาเหตุมาจากธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา


อาการของโรคพาร์กินสัน
1. อาการสั่น(Tremor) พบว่าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคประมาณร้อยละ 60 - 70 ของผู้ป่วยจะมีอาการสั่น โดยเฉพาะเวลาที่อยู่นิ่ง ๆ(resting tremor) จะมีอาการมากเป็นพิเศษ (4 - 8 ครั้ง / วินาที) แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมก็จะอาการสั่นลดลง หรือหายไป โดยมากพบอาการสั่นที่มือ และเท้า แต่บางครั้งอาจพบได้ที่คางหรือลิ้นก็ได้ แต่มักไม่พบที่ศีรษะ
2. อาการเกร็ง(Cogwheel rigidity) ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อขยับเหยียดลำบาก มักมีจังหวะกึกๆเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะแขน ขา และลำตัว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนักแต่อย่างใด
3. เคลื่อนไหวช้า(Bradykinesia) ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวช้า ใช้เวลานานกว่าปกติ บางรายอาจหกล้มจนเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ เช่น สะโพกหัก หัวเข่าแตก เป็นต้น
4. ท่าเดินผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีท่าเดินจำเพาะตัวที่ผิดจากโรคอื่น คือ ก้าวเดินสั้น ๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรก ๆ และจะก้าวยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนเร็วมากและหยุดไม่ได้ทันที โอกาสที่จะหกล้มหน้าคว่ำจึงมีสูง นอกจากนี้ยังเดินหลังค่อม ตัวงอ แขนไม่แกว่ง มือชิดแนบลำตัว หรือเดินแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์
5. การแสดงสีหน้า ใบหน้าของผู้ป่วยจะเฉยเมยไม่มีอารมณ์เหมือนใส่หน้ากาก เวลาพูดมุมปากจะขยับเพียงเล็กน้อย
6. เสียงพูด ผู้ป่วยจะพูดเสียงเครือ ๆ เบา ไม่ชัด มีเสียงแหบ ระดับเสียงเท่ากันตลอด
7. การเขียน ผู้ป่วยจะเขียนหนังสือลำบาก ตัวหนังสือจะค่อย ๆ เล็กลงจนอ่านไม่ออก

 การรักษาโรคพาร์กินสันมี 3 วิธี คือ

  1. รักษาด้วยยา ซึ่งแม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวหรือกลับมางอกทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่ก็จะทำให้สารเคมีโดปามีนในสมองมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ สำหรับยาที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ยากลุ่ม LEVODOPA และยากลุ่ม DOPAMINE AGONIST เป็นหลัก
  2.  ทำกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษาก็คือ ให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติที่สุดมีการฝึกเดินให้ค่อย ๆ ก้าวขาแต่พอดี โดยเอาส้นเท้าลงเต็มฝ่าเท้า และแกว่งแขนไปด้วยขณะเดินเพื่อช่วยในการทรงตัว รวมไปถึงฝึกการนอน เปลี่ยนอิริยาบท ท่าทางให้เหมาะสม และฝึกการพูดร่วมด้วย
  3. การผ่าตัด โดยมากจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และมีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น อาการสั่นที่รุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวแขน ขา มากผิดปกติจากยา การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง เรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation)
  4. ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างในการพัฒนาฟื้นฟูด้านร่างกาย รวมถึงจิตใจ ดังนั้นหากท่านมีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคชนิดนี้ จึงควรรีบนำมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคอันจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

บทความโดย
นพ.พรพจน์ ประภาอนันตชัย

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้