โรคหลอดเลือดเกินนอกหัวใจ (PDA) ในทารกแรกเกิดก่อนกำหนด

สาเหตุของหลอดเลือดเกินนอกหัวใจหรือที่เรียกตัวย่อว่า PDA มาจากอะไร ?

หลอดเลือดเกินนอกหัวใจหรือที่เรียกตัวย่อว่า PDA เป็นหลอดเลือดปกติที่จำเป็นต้องมีในทารกช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา ในทารกที่เกิดครบกำหนดปกติหลอดเลือดนี้จะหดตัวลง ทำให้ปิดตัวเองไปได้หลังเกิดไม่นาน (ส่วนใหญ่ 1-2 วัน) แต่ถ้าทารกเกิดก่อนกำหนดความสามารถในการหดตัวของหลอดเลือดส่วนนี้จนทำให้หลอดเลือดปิดได้เองจะน้อยลง ยิ่งเกิดก่อนกำหนดมากโอกาสที่หลอดเลือดยังคงเปิดอยู่หลังเกิดก็จะพบได้มากขึ้น เกิดเป็นความผิดปกติในการไหลเวียนของเลือดขึ้น

อาการที่กำลังบอกว่าลูกเรามีภาวะหลอดเลือดเกินนอกหัวใจ

อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะสังเกต คือ ทารกจะมีอาการหอบเหนื่อย หัวใจและปอดทำงานหนัก หัวใจโตขึ้น ทั้งนี้หากมีอาการเหล่านี้อาจต้องให้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ ทารกเกิดก่อนกำหนดจะแสดงอาการชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกหลังเกิด

การรักษาภาวะหลอดเลือดเกินนอกหัวใจ

การรักษา เราจะให้ยาเพิ่มการทำงานของหัวใจ เพื่อเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดเกิน โดยให้หดเล็กลงและอาจจะปิดเองได้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเข้าไปผูกรัดหลอดเลือดที่เกินนอกหัวใจนั้นผลการรักษาปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้หลังผ่าตัดไม่นาน และช่วยชีวิตเด็กได้

      โรคหลอดเลือดเกินนอกหัวใจบางครั้งมาตรวจพบในเด็กที่อายุมากขึ้นและถ้าเด็กยังเติบโตได้ดี ถ้ารอได้เราอาจรอจนหลังอายุ 1 ปี แล้วใช้การสวนหัวใจโดยใส่อุปกรณ์เข้าไปทางต้นขาเพื่ออุดหลอดเลือดเกิน สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดได้ ผลการรักษาในกลุ่มนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเช่นกัน

บทความโดย
นพ.ธนะรัตน์ ลยางกูร
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต
และกุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจ

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้