โรคซึมเศร้า ภัยร้ายใกล้ตัว
ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความแปรปรวน และสังคมที่ต้องแข่งขันเพื่อเอาตัวรอดกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพบว่าอาการเครียดเรื้อรังเป็นความเสี่ยงของโรคซึมเศร้าได้
ทั้งนี้ภาวะซึมเศร้าถือว่าเป็นอารมณ์หนึ่งที่เกิดได้ในคนปกติทั่วไป เช่น ในช่วงที่มีการสูญเสียบุคคลที่รัก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสถานภาพต่าง ๆ เช่น ออกจากงาน แต่ถ้าเป็นต่อเนื่อง มีหลายอาการ และมีผลทำให้ไม่สามารถทำงานหรือ เข้าสังคม ได้ตามปกติ ภาวะซึมเศร้านี้อาจจะเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่ทำงานผิดปกติด้วย จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ปี 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ. 2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 และสำหรับการจะแยกว่าคนๆ หนึ่งที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นโรคหรือไม่ มีหลักการที่พอจะสังเกตตนเอง หรือบุคคลรอบข้างได้ ดังนี้
1.อารมณ์เศร้านั้นมีความต่อเนื่องยาวนานกว่าปกติ ซึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยโรค คือ มีภาวะซึมเศร้าเป็นระยะเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน มากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้บางท่านอาจจะมีอาการเบื่อ ทำอะไรไม่เพลิดเพลิน แทนที่จะแสดงอารมณ์เศร้าหรือ เป็นอีกอาการร่วมกับอารมณ์เศร้าก็ได้ ดังตัวอย่างคำถามที่ใช้เป็นการคัดกรองโรคซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต ซึ่งท่านสามารถลองถามตนเอง หรือคนรอบข้างได้ คือ
- ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมวันนี้ ท่านรู้สึกหดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวัง หรือไม่?
- ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมวันนี้ ท่านรู้สึก เบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่?
ถ้าไม่มีทั้ง 2 คำถาม น่าจะไม่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่ง หมายถึง เป็นผู้มีความเสี่ยง หรือ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และให้ดูอาการร่วมอื่น ๆ ในข้อต่อไป
2.มีอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับอารมณ์เศร้า เช่น ปัญหาการนอนหลับ การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป สมาธิไม่ดี ทำอะไรช้าลง อ่อนเพลีย คิดว่าตัวเองไม่ดีหรือ คิดทำร้ายตัวเองโดยอาการเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่การงาน หรือเข้าสังคมได้ตามปกติถ้ามีอาการทั้ง 2 ข้อดังกล่าวมาถือว่ามีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้า จึงควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อดูแลรักษาต่อไป
นอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ จะมีอาการที่เฉพาะต่างออกไปคือ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพทางกาย และมีอาการเบื่อหน่ายขาดแรงจูงใจ มากกว่าอารมณ์ซึมเศร้า ทำให้สังเกตอาการซึมเศร้าได้ยากกว่าคนหนุ่มสาว และถ้าไม่ได้รักษาจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการทางจิตแทรกซ้อน เช่น ความคิดหลงผิด ถึงร้อยละ 25 ทั้งนี้โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักจะสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ เนื่องจากปัญหาเส้นเลือดหรือพยาธิสภาพในสมอง หรือ โรคที่มีผลต่อร่างกายโดยรวมเช่น ระดับไธรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น ผู้สูงอายุที่มีอาการซึมเศร้าจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายด้านอื่น ๆ ด้วย
หลักการสำคัญในการดูแลรักษาโรคซึมเศร้ามีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้คือ
1.การปรึกษาแพทย์และรับประทานยา เนื่องจากโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทที่ทำงานผิดปกติ การรับประทานยาสม่ำเสมอ และต่อเนื่องอย่างน้อย 6-9 เดือน ในความดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันการกลับมาของโรคด้วย
2. การดูแลทางด้านจิตใจ รู้เท่าทันความคิดในแง่ลบ ที่มักเกิดขึ้นเวลามีอารมณ์เศร้า ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวโรค ไม่จำเป็นต้องเชื่อความคิดนั้นเพียงแต่รับรู้ว่าความคิดเกิดขึ้นแล้วหายไปได้ รวมถึงอารมณ์เศร้า ทุกข์ใจ เมื่อรับรู้แบบเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ จะรู้ว่าอารมณ์ไม่ได้อยู่นาน เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุที่มากระทบ เช่น ถ้ากำลังซึมเศร้าอยู่ แต่พยายามไปออกกำลังกาย สนใจอยู่กับร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหว ใจก็จะรู้สึกสบายมากขึ้นกว่าคิดวนเวียนเรื่องที่เจ็บช้ำน้ำใจซ้ำ ๆ หรือต่อว่าตัวเองที่ซึมเศร้าเพราะเป็นการทำเหตุให้อารมณ์เศร้ามากขึ้น เมื่อปรับเปลี่ยนที่เหตุโดยเฉพาะการดูแลจิตใจ ให้กำลังใจตัวเอง และดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวม เช่น การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
นอกจากนี้ควรมีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้า ตั้งแต่พื้นฐานของครอบครัว เช่น การดูแลเอาใจใส่ลูกๆ ให้เติบโตด้วยการเห็นคุณค่าในชีวิตของตนเอง และผู้อื่น มีพื้นฐานของคุณธรรม ความดี และมีความมั่นคงในจิตใจ ส่งผลให้สังคมสงบสุข
โดยสรุปโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิต ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ การดูแลรักษาทั้งด้านยาและจิตใจมีส่วนสำคัญที่ทำให้โรคหายเป็นปกติได้ รวมถึงการป้องกันตั้งแต่พื้นฐานของครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดความปกติสุขของใจต่อไป
แชร์ไปยัง :