TICS โรคกล้ามเนื้อกระตุก ที่พบได้บ่อยในวัยเด็ก

TICS โรคกล้ามเนื้อกระตุก ที่พบได้บ่อยในวัยเด็ก


โรค TICS disorder : TICS คือ โรคที่กล้ามเนื้อมีการกระตุก การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว การกระตุกหรือเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนั้น อาจเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ไหล่ มือ หรือขา หรือมีการเปล่งเสียงกะทันหัน เช่น เสียงไอ เสียงขาก ในบางกรณีการเปล่งเสียงนั้นอาจเป็นลักษณะพูดโพล่งออกมาเป็นคำหยาบ โดยอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นเองโดยที่เด็กไม่ได้ตั้งใจทำ และควบคุมไม่ไห้เกิดอาการได้ยาก เปรียบเทียบอาการของโรค TICS ว่าคล้ายกับอาการสะอึกเล็กน้อย แม้ว่าเราไม่อยากจะสะอึก แต่ร่างกายของเราก็ยังสะอึกอยู่ดี

สาเหตุของโรค TICS

เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และมีแนวโน้มที่จะมีสาเหตุจากพันธุกรรม แต่โรค TICS ไม่ได้มีผลอันตรายหรือทำลายสมอง มักเกิดขึ้นควบคู่ไปกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) และโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

โรค TICS พบได้บ่อยในวัยเด็ก อาการอาจปรากฏครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุประมาณ 5 ปี อาการมักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และเป็นๆ หายๆ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีความเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้า หรือตื่นเต้น และมักจะดีขึ้นเมื่อความเครียดหรือความกังวลลดลง ในช่วงที่อาการเกิดขึ้นบ่อยหรือรุนแรงขึ้น สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาทางอารมณ์หรือสังคม เช่น รู้สึกอับอาย ถูกกลั่นแกล้ง หรือแยกตัวจากสังคม

อาการของโรค TICS

อาการกระตุก หรือเปล่งเสียงออกมากระทันหันนี้รบกวนกิจกรรมประจำวัน กิจกรรมที่โรงเรียน หรือการทำงาน ถึงแม้อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจทำและควบคุมอาการได้ยาก แต่ในเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป อาจสามารถรับรู้ความรู้สึกไม่สบายในร่างกายก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหว หรือกระตุกทำให้เด็กสามารถควบคุมการกระตุกได้บางส่วนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

อาการของโรค TICS จะเกิดขึ้นนานแค่ไหน?

ส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหลังเกิดอาการขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่บ่อยครั้งที่อาการอาจกลับมาแบบเป็นๆ หายๆ มักมีอาการมากในช่วงอายุประมาณ 8 ปีจนถึงวัยรุ่น และมักจะเริ่มดีขึ้นหลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นไปแล้ว

การรักษา
หากอาการกระตุกไม่รุนแรงและไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ อาจช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการหลีกเลี่ยงความเครียดหรือความเหนื่อยล้า ลดการล้อเลียน หรือพูดทักให้รู้สึกอับอาย แต่หากอาการกระตุกรุนแรงขึ้นและส่งผลต่อกิจกรรมประจำวัน เป้าหมายการรักษาจะเป็นการลดความถี่ของอาการกระตุก ด้วยการให้ผู้ป่วยรับรู้ความรู้สึกทางร่างกายที่มักจะรู้สึกได้ก่อนอาการกระตุก เพื่อฝึกเกร็งกล้ามเนื้อต้านอาการกระตุกที่เกิดขึ้นได้ ฝึกการผ่อนคลายอารมณ์เมื่อรู้สึกไม่สบายใจได

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยยาที่สามารถช่วยบรรเทาลดการกระตุก หรือการเคลื่อนไหวได้ และสามารถใช้ยารักษาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมและการทำจิตบำบัด

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้