"วัยรุ่น" วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

"วัยรุ่น" วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง โดย พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ เช่น ฮอร์โมน การทำงานของสมอง มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดที่ซับซ้อนขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคม เริ่มมีความผูกพันใกล้ชิดกับบุคคลนอกครอบครัว มีความต้องการการยอมรับจากสังคมมากขึ้น

สมองของวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กอย่างมาก ในช่วงนี้ สมองจะแตกแขนงเส้นใยสมองมากขึ้น เกิดการเชื่อมต่อการทำงานในสมองมากมาย เกิดกระบวนการคิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางในช่วงเวลานี้ แต่เป็นกระบวนการคิดที่คลุมเครือ หรือยุ่งยากซับซ้อน ทำให้การตัดสินใจอาจวู่วาม หรือตัดสินใจไม่ถูก

เมื่อวัยรุ่นเริ่มเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย สมองจะเริ่มลดจำนวนเส้นใยประสาท และเหลือไว้เฉพาะเส้นใยประสาทที่สำคัญ และเส้นใยที่เหลืออยู่นั้นจะถูกเคลือบ หรือหุ้มฉนวนด้วยปลอกไมอีลิน เพื่อให้เซลล์สมองมีการเชื่อมโยงการทำงานที่แข็งแรงและทำงานเร็วขึ้น ทำให้วัยรุ่นมีกระบวนการคิดที่เป็นระบบและมีมุมมองที่รอบคอบขึ้น  และยิ่งผู้ปกครองช่วยวัยรุ่นเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ได้เร็วเท่าไร วัยรุ่นก็จะยิ่งก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ดีขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเด็กเติบโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ผู้ปกครองเองก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วัยรุ่นจะเริ่มมีการแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตนเองชัดเจนขึ้น มีการแสดงออกทางอารมณ์เข้มข้นขึ้น ผู้ปกครองควรค่อยๆ คลายการกำกับควบคุมวัยรุ่น เลือกที่จะพูดคุยห้ามปรามเฉพาะพฤติกรรมที่เริ่มเป็นอันตรายต่อวัยรุ่นเอง โดยเริ่มจากการรับฟังมุมมองของวัยรุ่นก่อน เพราะการเป็นตัวอย่างเรื่องการฟังที่ดีจะช่วยสอนวัยรุ่นทางอ้อม ให้วัยรุ่นเห็นลักษณะการเป็นผู้ฟังที่ดี การรู้จักควบคุมอารมณ์ การใส่ใจคู่สนทนา การจับประเด็น/ใจความสำคัญ การให้เกียรติผู้อื่น และเป็นการแสดงการยอมรับในคุณค่าของเด็ก แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้เห็นกับวัยรุ่นในท้ายที่สุดแล้วก็ตาม แต่วัยรุ่นก็จะมีพฤติกรรมต่อต้านลดลง

วัยรุ่นนั้นเป็นช่วงวัยที่กำลังแสวงหาเอกลักษณ์ความเป็นตัวเอง ได้มีประสบการณ์ต่างๆที่ท้าทายเพื่อยืนยันการเป็นผู้ใหญ่ว่าตนเองสามารถจัดการดูแลตนเองได้ แต่นั่นย่อมตามมาด้วยการทดลองทำสิ่งต่างๆ ทั้งลองผิดและลองถูกในการใช้ชีวิต อาจเสี่ยงต่อการทดลองใช้ยาเสพติด หรือประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์  แต่หากผู้ปกครองมีการรับฟังวัยรุ่นด้วยความสงบได้มากพอ รอให้วัยรุ่นได้พูดความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการของเขาก่อน ผู้ปกครองควรกล่าวคำชื่นชมความพยายาม หรือความตั้งใจจริงที่ดีของวัยรุ่นบ้าง แล้วจึงค่อยเสนอความคิดเห็นต่างๆ ในมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่เพื่อให้วัยรุ่นต้องคิด หรือทำตามที่ผู้ปกครองบอก แต่เพื่อให้เขาได้มีมุมมองต่อเหตุการณ์นั้นได้รอบคอบขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ววัยรุ่นจะต้องรู้จักตัดสินใจด้วยตนเองและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก

แม้ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกมีอิทธิพลต่อกระบวนการพัฒนาความคิด อารมณ์ และสังคมของวัยรุ่น แต่ผลการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่สนับสนุนว่าครอบครัวมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของวัยรุ่นมากเช่นเดียวกัน

สามารถติดต่อนัดหมาย หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต หรือ ติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-998-9888 ต่อ 3216 , 3217 ได้ในเวลา 08.00-20.00 น.นะคะ

บทความโดย
พญ.ชนม์นิภา บุตรวงษ์

บทความทางการแพทย์
แพ็กเกจและโปรโมชั่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน

ตั้งค่าคุกกี้